xs
xsm
sm
md
lg

ประกันทำแผนที่เสี่ยงน้ำท่วม คาดสิงหาฯ เคลียร์สินไหมจบ 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมประกันวินาศภัยจับมือ สทอภ.ทำแผนที่เสี่ยงน้ำท่วม หวังเพิ่มข้อมูลต่อราคาเบี้ยจากบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ ระบุสิงหาคมนี้เคลียร์สินไหมน้ำท่วมครบ 100% หรือกว่า 4 แสนล้านบาท มั่นใจระบบแผนที่ใหม่เพิ่มข้อมูลให้รีอินชัวเรอร์รับงานมากขึ้น

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาคมฯ มีความร่วมมือกับทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ในการพัฒนาต้นแบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วม ปัจจุบันแล้วเสร็จแล้ว 16 จังหวัดภาคกลาง บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน

ทั้งนี้ ล่าสุดยังได้ขยายความร่วมมือเพื่อให้แบบจำลองดังกล่าวครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวจะสร้างความน่าเชื่อถือ ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม เพื่อเป็นมาตรฐานข้อมูลในการอ้างอิงการรับประกันภัยน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังสามารนำไปใช้เป็นข้อมูลในการต่อรองอัตราเบี้ยประกันภัยต่อจากบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศควบคู่ไปด้วย ส่วนแนวโน้มการจ่ายสินไหมน้ำท่วมพบว่า จากการประชุมกับทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะสามารถจ่ายค่าสินไหมได้หมดครบ 100% ภายในเดือน ส.ค.นี้ หากรายไหนจ่ายไม่หมดก็ต้องมีการชี้แจงถึงเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ขณะนี้ได้จ่ายค่าสินไหมไปแล้วกว่า 350,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 80% จากยอดสินไหมทั้งหมดประมาณ 435,000 ล้านบาท ยังเหลือสินไหมที่ยังรอการจ่ายอีกประมาณ 77,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ประกันก็ยังห่วงเรื่องการเรียกเก็บเงินจากบริษัทรับประกันภัยต่อ หรือรีอินชัวเรอร์ว่าจะเกิดความล่าช้าได้อีก เพราะยอดการเคลมสินไหมครั้งนี้สูงมาก จึงมีการตั้งคำถามเยอะเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สิน หนังสือการประเมินเครื่องจักร รวมถึงคำแนะนำจากวิศวกร สมาคมฯ ก็ได้แต่หวังว่าการเรียกเก็บเงินจากรีฯ ไม่น่าจะยาวนัก หากยาวออกไปก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทประกันภัยได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ได้มีการสำรองจ่ายออกไปให้ลูกค้าก่อน ส่วนเรื่องการจ่ายของรีฯ นั้นยืนยันว่าจ่ายแน่นอน และหากบริษัทประกันได้รับผลกระทบเรื่องสภาพคล่อง ก็ยืนยันว่าไม่ถึงขนาดต้องทำการเพิ่มทุน”

ด้านนายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม อุปนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า แผนที่จำลองนี้ได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมในปี 2554 แต่ปัจจุบันได้เพิ่มเติมข้อมูลลงไปแล้ว ส่วนเฟส 2 ที่จะมีการพัฒนาคาดว่าจะแล้วเสร็จอีกประมาณ 6 เดือนต่อจากนี้ โดยระบบในเฟส 2 จะเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อมูลในแต่ละพื้นที่

“เฟสใหม่ที่เราพัฒนาจะเพิ่มข้อมูลมากขึ้น เช่น กำหนดจุดได้ว่าบ้านเลขที่ไหนอยู่ในพื้นที่อะไร เคยมีประวัติน้ำท่วมหรือไม่ และจะครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ส่วนเฟส 3 จะเพิ่มข้อมูลเชิงปริมาณเข้าไปด้วย เช่น เคยท่วมลึกเท่าไร ซึ่งทำให้เป็นมาตรฐานในการรับประกันได้”

อย่างไรก็ตาม แผนที่ดังกล่าวทางสมาคมฯ ไม่ได้มีการกำหนดอัตราเบี้ยเอาไว้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท ส่วนอัตราเบี้ยนั้นปัจจุบันได้เริ่มปรับลดลงมาแล้วตั้งแต่มีกองทุนภัยพิบัติเข้ามาช่วยสร้างความสมดุล ส่วนแผนที่นี้คงจะช่วยเพิ่มข้อมูล และความเชื่อมั่นในการตัดสินใจรับงานของบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น