ก.ล.ต.เตรียมอนุญาตให้บริษัทที่ต้องการประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนหลากหลายประเภทของ บลจ.หลายแห่ง และมีลักษณะการประกอบธุรกิจตามที่กำหนด สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์การเป็นนายหน้าค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุนได้ (ใบอนุญาตแบบ ง) โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าว ก.ล.ต.จะปรับลดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจรายปีให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ในอัตราพิเศษหากเสนอขายหน่วยลงทุนตั้งแต่ 3 ประเภทของ บลจ. 10 แห่งขึ้นไป
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.จะอนุญาตให้บริษัทที่ต้องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เฉพาะการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตแบบ ง ได้โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท จากปัจจุบันผู้ที่ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทดังกล่าวต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท หากเข้าเงื่อนไขว่าบริษัทดังกล่าวต้องไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ไม่ลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง หรือไม่มีภาระในการชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์
นอกจากนี้ หากบริษัทใดประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าขายหน่วยลงทุนของ บลจ.ตั้งแต่ 10 บริษัทขึ้นไป และเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตั้งแต่ 3 ประเภทขึ้นไป เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมผสม เป็นต้น จะเสียค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจในอัตราพิเศษที่ต่ำลงกว่าเดิมมาก
ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะเปิดโอกาสให้บริษัทที่จัดตั้งและประกอบธุรกิจอื่นอยู่ก่อนแล้วสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตแบบ ง ได้หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ประเภทธุรกิจเดิมต้องเกี่ยวเนื่อง สนับสนุน หรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจที่จะขอรับใบอนุญาต และไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันอนุญาตให้เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และบริษัทจัดตั้งใหม่เท่านั้น โดยจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงต่อไป การดำเนินการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินได้สะดวก มีกองทุนรวมของ บลจ.หลายแห่ง และหลายประเภทให้เลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการและความสามารถในการรับความเสี่ยง รวมทั้งให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับคำแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมที่มีความหลากหลายจากผู้ประกอบการที่มีความเป็นอิสระ
“การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งลงทุนในตลาดทุนจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารเงินลงทุน สนใจเรียนรู้และเข้ามาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงหน่วยลงทุน แต่อาจขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น และเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการจะใช้ช่องทางการประกอบธุรกิจอย่างเต็มที่เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้มากและหลากหลายยิ่งขึ้น รองรับการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดทุนไทยได้รับการพัฒนาในเชิงกว้างและลึกยิ่งขึ้น” นายวรพลกล่าว