Design your life By Mutualfund
โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
www.aimc.or.th
โทรศัพท์ 0-2264-0900
โดยทั่วไปนั้น ผู้ลงทุนมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนที่แตกต่างกันได้ดังนี้ คือ
1. ลงทุนเพื่อเพิ่มค่าของเงินลงทุน หมายความว่า ต้องการให้หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่ตนเองลงทุน หรือมีอยู่นั้นเพิ่มมูลค่าขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาที่ลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ลงทุนคาดหวังให้หุ้นที่ตัวเองซื้อนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้มีกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง หรือเปรียบเทียบกับการซื้อที่ดิน ผู้ซื้อก็คาดหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปที่ดินที่ตนเองซื้อมาจะมีราคาเพิ่มขึ้น เป็นต้น
2. ลงทุนเพื่อให้มีรายได้ประจำ หมายความว่า ในระยะเวลาที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินใดๆ ก็ตาม ต้องการให้มีกระแสเงินสดรับเข้ามาแน่นอนเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งรายได้ประจำนี้อาจจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยรับและเงินปันผล หรือรายได้จากการให้เช่าที่ดิน อาคาร เป็นต้น
3. ลงทุนเพื่อปกป้องเงินทุน หรือต้องการรักษาอำนาจซื้อของตนไว้จากภาวะเงินเฟ้อ หมายความว่า ต้องการให้เงินลงทุนของตนไม่เสื่อมค่า หรือมีมูลค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
4. ลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนรวม หมายความว่า ผู้ลงทุนต้องการให้ระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนมีความเหมาะสม ไม่เน้นไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยลงทุนผสมกันไประหว่างวัตถุประสงค์การลงทุนทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาข้างต้น
เนื่องจากความต้องการของผู้ลงทุนที่แตกต่างกันนี้เอง บริษัทจัดการจึงได้จัดตั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล และนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ลงทุนที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
- ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการมีรายได้ประจำ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลา ผู้ลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้เหมาะต่อการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยผู้ลงทุนต้องศึกษานโยบายการจ่ายเงินปันผลของกองทุนจากหนังสือชี้ชวน แล้วเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีเงื่อนไขหรือนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สอดคล้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของตน เช่น บางกองทุนรวมมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละครั้ง ปีละสองครั้ง ปีละไม่เกินสี่ครั้ง หรือจ่ายทุกครั้งที่กองทุนรวมมีกำไรได้ตามเงื่อนไข ก็เลือกได้ตามต้องการ
ทั้งนี้ ในการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมนั้นจะส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นลดลงในจำนวนเท่าๆ กับมูลค่าที่มีการจ่ายเงินปันผล ฉะนั้น ผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลนั้นอาจจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของการลงทุน (capital gain) น้อยกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล และเงินปันผลที่ผู้ลงทุนได้รับจากกองทุนรวม ผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือไม่ให้หักแล้วนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีตอนปลายปีก็ได้
- ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการให้เงินต้นหรือเงินลงทุนของตนเองเพิ่มพูนงอกเงย โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินมาใช้จ่ายประจำในระหว่างทาง ผู้ลงทุนที่มีวัตถุประสงค์การลงทุนในลักษณะนี้เหมาะต่อการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของการลงทุนมากกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพราะผู้จัดการกองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า
สำหรับผู้ลงทุนที่อาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินในระหว่างการลงทุนโดยไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าก็สามารถขายหน่วยลงทุนเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายได้ โดยถ้าผู้ลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนเปิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เกือบทุกวันทำการที่บริษัทจัดการหรือตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้น แต่หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนปิด ก็ต้องดูว่าบริษัทจัดการได้นำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนในตลาดรองหรือแต่งตั้งบริษัทใดทำหน้าที่เสนอซื้อเสนอขาย (Market Maker) หน่วยลงทุน แล้วจึงนำกองทุนนั้นไปเสนอขายในตลาดรองหรือบริษัทเสนอซื้อเสนอขายนั้นก็ได้เช่นกัน
ส่วนกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่าการที่บริษัทจัดการจัดตั้งกองทุนรวมโดยกำหนดให้มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล ก็เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ลงทุนที่มีความต่างกันนั่นเอง