xs
xsm
sm
md
lg

ดึงญี่ปุ่นลงทุนPrivate Equity เอ็มเอฟซีตั้งเป้า15%ต่อปีทุกโปรเจ็ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชชุ จันทาทับ
บลจ.เอ็มเอฟซี เผย สินทรัพย์กอง Private Equity อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท เน้นลงทุนธุรกิจพลังงาน ล่าสุดดึงพันธมิตรธุรกิจจากญี่ปุ่น ร่วมลงทุนอุตสากรรมหนักในไทย วางเป้าผลตอบแทนโปรเจ็คเฉลี่ย 15% ต่อปี ระยะเวลาลงทุนประมาณ 3 - 5 ปี

นายวิชชุ จันทาทับ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Private Equity บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ที่บริหารในส่วนของกองทุนนิติบุคคลเอกชน (Private Equity) ประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยมุ่งนำเงินไปลงทุนในทุกธุรกิจทั้งพลังงานและไม่เกี่ยวข้องกับพลังงานยกเว้นธุรกิจในภาคบริการและอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดกำลังเจรจาดึงเม็ดเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในบริษัทไทยที่ทำธุรกิจเป็นอุตสาหกรรมหนักซึ่งคาดว่าน่าจะเจรจาแล้วเสร็จได้ในเร็วๆ นี้ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาร่วมลงทุนในลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจให้กับบริษัทแห่งนี้ที่เป็นบริษัทที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาที่ต้องจัดการเท่านั้นเอง ซึ่งบริษัทกำลังสนใจที่จะขยายการลงทุนในส่วนของ Private Equity นี้ เข้าไปยังการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อาจจะมีปัญหาด้านการเงินหรือด้านการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน ถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถจะขยับเข้าไปลงทุนได้

โดยในส่วนของกองทุนพลังงานเองปัจจุบันยังสามารถที่จะใส่เงินลงทุนเพิ่มได้อีกประมาณ 900 - 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสนใจที่จะลงทุนเพิ่มในบริษัทไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เพราะบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่จะไม่ค่อยสนใจเงินลงทุนจาก Private Equity เท่าไรนัก แล้วมองว่าแนวโน้มของพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กำลังเติบโตในไทยจึงเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและน่าสนใจที่จะเข้าลงทุน

นายวิชชุ ยังกล่าวอีกว่า ธุรกิจของ Private Equity ค่อนข้างจะเป็นธุรกิจเฉพาะฐานลูกค้าทั้งสถาบันและบุคคลที่มีเงินที่ค่อนข้างจะเป็นความลับ ดังนั้นในการหาลูกค้าหรือหาโปรเจ็คที่จะลงทุนบริษัทจะต้องทำการบ้านค่อนข้างมากในการไปหาลูกค้าและโปรเจ็คให้แมทช์กันให้ได้ ดังนั้นลูกค้ากองทุน Private Equity จะต้องมีความเข้าใจที่มากเพียงพอ โดยผลตอบแทนคาดหวังก็เฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี ระยะเวลาลงทุนประมาณ 3 - 5 ปี แม้ว่าโอกาสในความสำเร็จของการเข้าไปลงทุนอาจจะไม่มากใน 10 โครงการ อาจจะมีสำเร็จแค่ 2 - 3 โครงการ อีก 5 โครงการทรงๆ ที่เหลือไม่สำเร็จ แต่โครงการที่ลงทุนแล้วสำเร็จจะสร้างผลตอบแทนที่สามารถครอบคลุมทุกโครงการที่ไม่สำเร็จได้ผลตอบแทนที่คาดหวังจึงค่อนข้างสูง โดยส่วนใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทจะเข้าไปลงทุนประมาณ 30 - 35% ของทุนจดทะเบียนในบริษัททั่วไป ถ้าเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับพลังงานก็ประมาณ 25% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้การเข้าไปลงทุนในบริษัทเป้าหมายจะมีทั้งบริษัทที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินลงทุน ในลักษณะนี้อาจจะเพียงใส่เงินเข้าไปเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่มีปัญหาแต่มีศักยภาพในการทำธุรกิจอยู่ก็ต้องมาดูว่าปัญหานั้นคืออะไร เพราะส่วนใหญ่การเข้าไปลงทุน Private Equity จะเข้าไปช่วยดูแลบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูบริษัทให้สามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งด้วยเช่นกัน ในลักษณะนี้ก็อาจจะเข้าไปในเชิงของพันธมิตรทางธุรกิจที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารด้วยเช่นกัน

“ส่วนรูปแบบของกองทุน Private Equity นี้ ไม่เหมาะกับการที่จะนำมาทำเป็นรูปแบบของกองทุนรวมเพื่อให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนแต่ประการใด แม้ในต่างประเทศอาจจะมีการตั้งกองทุนรวมเพื่อเข้าไปลงทุนใน Private Equity บ้างก็ตาม แต่ถ้ามองความพร้อมและพัฒนาการในเรื่องนี้ของไทยเองคิดว่าไทยยังไม่พร้อมและ Private Equity นี้ ยังเหมาะที่จะเป็นการลงทุนเฉพาะกลุ่มในส่วนของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคลที่มีความรู้และเงินทุนมากกว่า” นายวิชชุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น