บลจ. ทหารไทย ชี้ จับตาท่าทีของเฟด ต่อการแก้ปัญหาศรษฐกิจ ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปยังมีปัญหามาก ชี้ ลงทุนบอนด์ ระยะสั้นหนีความเสี่ยง
นายไพศาล ครุฑดำรงชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ปรับตัวลงมามาก รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งปัจจัยหลักยังมาจากปัจจัยในต่างประเทศ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯ โดยยุโรปในขณะนี้เห็นได้ว่ายังมีปัญหาอยู่มากซึ่งทางประเทศที่มีปัญหาต้องการให้ประเทศเยอรมันเข้ามาช่วยเหลือ แต่ทางเยอรมันก็ยังไม่กล้ามาช่วยมากเพราะอาจทำให้คนในประเทศไม่พอใจได้ ขณะสหรัฐฯ นั้น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นด้วยการใช้นโยบายการคลังและมาตรการดอกเบี้ยนั้นยังไม่ได้ผลดีนัก ดังนั้นจึงมีการคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)น่าจะมีการออกมาพูดถึงการแก้ปัญหาต่อไป
ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่า ทางธนาคารกลางสหรัฐ น่าจะออกมาพูดถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่จะไม่ฟันธงว่าจะใช้มาตรการ QE3 แต่น่าจะออกมาพูดเพื่อสร้างความมั่นใจ เนื่องจากตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงๆไปมาก ดังนั้นในการประชุมของเฟดในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ จึงต้องจับตามองท่าทีของเฟดว่าจะเป็นอย่างไร
"หากท่าทีของเฟดที่ออกมาพูดสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ตลาดหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นมา แต่หากไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นมากนัก ตลาดหุ้นก็อาจจะทรงตัวต่อไป แต่ยังต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่จะออกมาดด้วยว่าจะเป็นอย่างไร" นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล ยังกล่าวต่อว่า จากสถานการ์ของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวลงนั้น ส่งผลให้กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศไม่ได้รับความสนใจในช่วงนี้ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าตลาดหุ้นที่ตกลงมาอาจจะเป็นโอกาสที่ดีก็ตาม ดังนั้นการลงทุนในช่วงนี้ที่น่าสนใจและไม่มีความเสี่ยงคือเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนอย่างน้อย 3% หรืออาจมากกว่านั้นตามที่นักลงทุนจะรับความเสี่ยงได้
สถาบันวิจัย Economist Intelligence Unit (EIU) ในลอนดอน เปิดเผยว่า มีโอกาสอย่างน้อย 40% ที่กลุ่มยูโรโซนจะล่มสลาย และมีโอกาสเท่าๆกันที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการล่มสลายของกลุ่มยูโรโซนจะก่อให้เกิดหายนะ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยตามมา หรือที่แย่ยิ่งกว่าคือเกิดทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน
โดยที่ตลาดทั่วโลกต่างเผชิญกับการปรับฐานลงหลังจากที่นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงความเสี่ยงที่วิกฤตหนี้จะลุกลามไปทั่วยูโรโซน ซึ่งEIU เพิ่งปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้เหลือ 1.7% และของเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.5% อย่างไรก็ดี EIU ระบุว่าปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขคาดการณ์ แต่อยู่ที่ความน่าจะเป็นของความเสี่ยงต่างๆ
EIU ยังระบุว่า ขณะนี้อิตาลีและสเปนก็เปราะบางเช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าวิกฤตหนี้ยูโรโซนได้พัฒนาไปสู่ระดับใหม่ที่อันตรายกว่าเดิมแล้ว หากกลุ่มยูโรโซนล่มสลายไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม จะเกิดคำถามเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของระบบการธนาคารทั่วโลกทันที ซึ่งจะส่งผลให้เกิดวิกฤตการเงินรอบสอง เหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 อย่างไรก็ตาม EIU ยังเชื่อว่าความเสี่ยงที่กลุ่มยูโรโซนจะล่มสลายมีสูงขึ้น