คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทองทำเป็นการลงทุนที่สร้างความ “ตื่น”ตระหนกให้กับนักลงทุนทั่วโลก ด้วยราคาที่พุ่งสูงเกือบ 20% ในเวลาเพียงสองเดือน พร้อมกับสร้างสถิติใหม่ด้วยการปรับตัวแตะระดับ1,800 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม แม้จะมีการอ่อนตัวลงไปบ้างหลังจากนั้น แต่ก็ยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 1,700 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ได้
เหตุผลที่ราคาทองพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ นอกจากจะเกิดจากความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เนื่องจากการที่สหรัฐฯโดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ประกอบกับปัญหาหนี้ในภูมิภาคยุโรปที่ยังคงไม่คลี่คลายแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ การเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
จากข้อมูลของ World Gold Council ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ธนาคารกลางทั่วโลก มีการถือครองทองคำเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 30,700 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 12% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด โดยประเทศที่มีการถือครองทองคำมากที่สุด คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือครองกว่า 8,133 ตัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 74% ของเงินทุนสำรองของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศไทย ก็มีการถือครองทองคำ 127.5 ตัน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.3% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่น่าสนใจคือ เพียงแค่ 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารกลางทั่วโลก ได้มีการเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมถึง 208 ตัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นกว่า 100% จากรอบ 6 เดือนหลังของปี 2553
ในอดีตธนาคารกลางจะเป็นผู้ขายทองคำสุทธิออกมาสู่ตลาด ทำให้ปริมาณทองคำในตลาดโลกมีปริมาณมากพอและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังนั้นราคาทองจึงมีการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางกลับมาเป็นผู้ซื้อทองคำสุทธิในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อของนักลงทุนทั่วไป ทำให้ความต้องการทองคำในตลาดโลกยิ่งเพิ่มขึ้นสูงขึ้น สวนทางกับปริมาณทองคำในตลาดที่มีอยู่จำกัด ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก จะเพิ่มปริมาณการถือครองทองคำ เนื่องจากปัจจุบันมีการถือทองคำเพียงแค่ 1.6% ของทุนสำรองฯ จากปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อทองคำแล้ว ยังกระตุ้นให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปอีก และมีโอกาสที่จะขึ้นไปถึงระดับ 1,800 - 2,000 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ ในช่วงปลายปี 2554 - กลางปี 2555
สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่อยากตกขบวนรถไฟทองคำ การตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมขบวนทองคำในตอนนี้ก็ ยังไม่สายเกินไป เพียงแค่เลือกรูปแบบการลงทุนในทองคำที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนเอง และศึกษาวิธีการลงทุนในทองคำในบ้านเรา ซึ่งมีถึง 4 รูปแบบ ดังนี้
การลงทุนในทองคำแท่ง
นักลงทุนสามารถลงทุนในทองคำได้ผ่านการลงทุนในทองคำแท่งในประเทศ ซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ 96.5% ตามร้านทองทั่วไป โดยทองคำแท่งขนาดเล็กสุดจะมีน้ำหนัก 5 บาท (บางร้านทอง มีขนาดตั้งแต่ 1 บาท แต่จะมีค่าแบบพิมพ์เพิ่มเติม) ทั้งนี้ราคาทองคำแท่งจะเป็นไปตามราคาประกาศของสมาคมค้าทอง อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรพิจารณาเลือกบริษัท หรือร้านค้าทองที่น่าเชื่อถือ เพื่อที่จะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากราคาที่สมาคมประกาศ
การลงทุนในทองคำแท่งมีข้อดีคือสภาพคล่องสูง เมื่อมีการขายคืนที่ร้านทอง ก็จะได้รับเงินทันที แต่ข้อควรระวังคือ จำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง (125,000 บาท ต่อน้ำหนัก 5 บาท) รวมถึงโอกาสที่จะสูญหายได้ ประกอบกับราคาทองคำที่ใช้เป็นราคาที่มิได้มีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน
การลงทุนใน Gold Futures
ตลาดตราสารอนุพันธ์แห่งประเทศไทย (TFEX) มีการเปิดให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Futures ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยเนื่องจากผู้ลงทุนไม่ต้องจ่ายเงินทั้งจำนวน เพียงแค่วางเงินประกันประมาณ 5 %ของมูลค่าสัญญาเท่านั้น (เงินประกัน 62700 บาทต่อทองคำแท่งน้ำหนัก 50 บาท 1 สัญญา/ เงินประกัน 12540 บาทต่อทองคำแท่งน้ำหนัก 10 บาท 1 สัญญา) นอกจากนี้ ยังมีโอกาสทำกำไรได้ทั้งในตลาดขาขึ้น และขาลง
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ การลงทุนใน Gold Futures อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และต้องทำความเข้าใจและศึกษาการลงทุนอย่างละเอียด เนื่องจากมีปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการลงทุนในทองคำแท่ง ซึ่งได้แก่
- อายุของสัญญา เนื่องจากสัญญา Gold Futures เป็นสัญญาที่มีการครบกำหนดอายุ หากถือไปจบครบอายุสัญญาแล้ว ก็จะมีการปิดสถานะสัญญาให้โดยอัตโนมัติ แม้ว่าผู้ลงทุนจะยังคงขาดทุนอยู่
- การคำนวณสถานะเป็นราคาตลาด (Mark-to-Market) ทุกวัน หากขาดทุน ก็อาจจะต้องมีการเรียกวงเงินหลักประกันเพิ่มทุกวันด้วย
- การใช้เงินประกันแค่ประมาณ 5% ของมูลค่าสัญญา หากมีการขาดุทน คิดเป็น % แล้วก็จะเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการลงทุนในทองคำแท่งโดยตรง
การลงทุนในกองทุนทองคำ
คือการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ การเคลื่อนไหวของมูลค่าหน่วยลงทุนจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลก เปรียบเสมือนลงทุนในทองคำแท่งทางอ้อม ผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ ซึ่งจะนำเงินไปลงทุนในทองคำแท่ง 99.99% หรือ 99.50% อีกทีหนึ่ง
ข้อดีของการลงทุนกองทุนรวมทองคำ คือผู้ลงทุนใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก ส่วนใหญ่กำหนดเงินลงทุนไว้ต่ำกว่า 10,000 บาท และสามารถทำการซื้อขายได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปร้านทอง และปลอดภัยเนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องการสูญหาย
นอกจากนี้ หากต้องการขายทำกำไร หรือทยอยสะสมซื้อ ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องซื้อ หรือขายทองคำแท่งทั้งก้อน และกองทุนทองคำบางกอง อาทิ K-GOLD ยังมีนโยบายการจ่ายปันผล ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนมีกระแสเงินสดใช้โดยที่ไม่ต้องทำการขายคืนด้วย อีกทั้งกองทุนยังมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ราคาหน่วยลงทุนเคลื่อนไหวตามราคาทองคำตลาดโลกมากที่สุด อย่างไรก็ดี เนื่องจากกองทุนรวมทองคำ มีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนเพียงวันละ 1 ครั้ง จึงไม่สามารถซื้อและขายคืนในระหว่างวันเพื่อทำกำไรได้เหมือนกองทุน ETF ทองคำ และ Gold Futures
การลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ
กองทุน ETF ทองคำ คือกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่มีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยกองทุน ETF จะมีการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดหลักทรัพย์ตลอดทั้งวัน จาก อุปสงค์ และ อุปทาน ของนักลงทุนในตลาด ซึ่งจะสอดคล้องกับราคาทองคำ หรือหน่วยลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในทองคำก็ได้ ข้อดีของการลงทุนใน ETF ทองคำคือ สามารถทำการซื้อขายในระหว่างวันได้ เพราะราคาจะมีการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ดี หากมีการซื้อขายบ่อยๆ ก็จะมีการเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่อัตรา 0.25% ต่อปริมาณซื้อขาย นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังจะต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ หรือตัวแทน เพื่อทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
เมื่อตลาดทองคำเปิดกว้างให้นักลงทุนตั้งแต่มือใหม่ไปจนถึงระดับเซียนขนาดนี้ จะตื่นเต้นกับราคาต่อไป หรือจะตัดสินใจมาร่วมขบวน ก็อย่าลืมตรวจสอบความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองควบคู่ไปด้วย เพราะทองคำจัดอยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง และมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงมากเช่นกัน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
อาทิตย์ ทองเจริญ
ผู้บริหารจัดหาผลิตภัณฑ์พิเศษ
ฝ่ายจัดหาผลิตภัณฑ์พิเศษและบริการทรัพย์ส่วนบุคคล
บลจ.กสิกรไทย จำกัด
www.kasikornasset.com