xs
xsm
sm
md
lg

สคฝ.ย้ำสถาบันการเงินไทยแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันคุ้มครองเงินฝากออกโรงย้ำฐานะสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพมากกว่าก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำความเข้าใจผู้ฝาก อย่าตื่นตระหนกจากการปรับลดวงเงินคุ้มครอง

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยมีความพร้อมในการรับมือกับการเริ่มลดสัดส่วนการคุ้มครองเงินฝากในวันที่ 11 ส.ค.54 โดยเริ่มลดการคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝาก และในวันที่ 11 ส.ค.55 ลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายผู้ฝาก โดยภาพรวมของสถาบันการเงินนั้น มีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ โดยสถาบันการเงินไทยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย 17 แห่ง สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 15 แห่ง บริษัทเงินทุน 3 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง

ทั้งนี้ ภาพรวมสถาบันการเงินในปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 โดยสามารถสร้างกำไรได้ในระดับที่ดี สินเชื่อยังคงขยายตัว ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2554 มีกำไรสุทธิ กว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 17.8 ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย สำหรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 1.1

ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 ขยายตัว ร้อยละ 13.4 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจและการลงทุนแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 54 มียอดคงค้างอยู่ที่ 3.0 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่เป็นอัตราส่วนใช้วัดความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน เพื่อแสดงถึงความมั่นคง และสามารถรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ15.8 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับอัตราส่วนที่ ธปท.กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5

"การลดวงเงินคุ้มครองในช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศและฐานะการเงินของสถาบันการเงินมีความมั่นคงแข็งแกร่ง ดังนั้นประชาชนผู้ฝากเงินจึงสามารถเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และไม่ควรตื่นตระหนกจากการปรับลดวงเงินคุ้มครอง”นายสิงหะกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น