นายกสมาคม บลจ.แนะนักลงทุน เลือกกองทุนรวมสร้างผลตอบแทนเยี่ยม หลังปี 55 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คุ้มครองลูกค้าแบงก์วงเงินเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า นักลงทุนในประเทศเรามีความเคยชินกับเครื่องมือชนิดเดียว ที่ช่วยให้เงินทำงานงอกเงยด้วยตัวมันเองมานานหลายชั่วอายุคน นั่นคือ การฝากเงินธนาคาร โดยจะได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ทั้งนี้ หากธนาคารล้ม เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม
รวมถึงการทุจริตของผู้บริหารและพนักงาน หรือเนื่องจากผลพวงของพิษเศรษฐกิจครั้งใด รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องเข้าไปอุ้มชูธนาคารเพื่อไม่ให้พังไปทั้งประเทศ เนื่องจากเส้นเลือดใหญ่ทางการเงินที่หล่อเลี้ยงกิจการต่าง ๆ ไม่ว่าจะใหญ่ กลาง เล็ก ก็คือ ธนาคาร หากปล่อยให้ล้มสัก 1 ธนาคาร มันจะลามไปทั้งระบบ ทั้งประเทศ เพราะเมื่อคนเกิดตื่นตระหนกถอนเงินฝากออกกันทุกธนาคารพร้อมๆ กัน ธนาคารจะเอาปัญญาไปหาจากไหนมาคืนได้ครบทุกคน เพราะเงินฝากเหล่านี้ธนาคารเอาไปปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้แล้ว ผู้กู้ที่ไหนจะไปมีทางใช้คืนธนาคารได้ทันที และหากผู้ฝากขอถอนเงิน แต่ธนาคารบอกว่าขอแปะไว้ก่อน อีก 2-3 วันน่าจะหามาคืนให้ รับรองได้ว่า หากใครได้ยินข่าวนี้ ก็จะรีบแล่นไปถอนเงินที่มีในทุกธนาคารทันทีแบบตัวใครตัวมัน
ทั้งนี้ เกิดคำถามขึ้นมาว่าเงินที่เอาไปอุ้มแบงก์นั้น มาจากไหน คำตอบก็คือ มาจากภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บจากกิจการต่างๆ และจากประชาชน ซึ่งนั่นก็คือ ความไม่เป็นธรรมในระบบ จึงได้เกิดระบบการอุ้มแบบจำกัดวงเงินขึ้นมา นั่นก็คือ ต่อไปนี้ จะอุ้มผู้ฝากเงินไม่เต็มจำนวนที่ฝากแล้ว เรามีองค์กรที่ชื่อว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ (สคฝ.) เกิดขึ้นมาแล้ว และตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2554 เขาจะอุ้มผู้ฝากรายละ 50 ล้านบาท พอถึง 11 สิงหาคม ปี 2555 ก็จะอุ้มผู้ฝากลดลงเหลือเพียงรายละ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งความจริงไม่น่าชื่อนี้เลย ควรชื่อสถาบันจำกัดการคุ้มครองเงินฝาก ถึงจะถูกต้อง
"สิ่งที่ตามมาต่อไปนี้ หากแบงก์ที่เราฝากเงินไว้เกิดล้มขึ้นมา เราจะได้เงินฝากคืนตามจำนวนที่ฝากไว้ แต่ได้คืนไม่เกิน 1 ล้านบาท คนจนไม่กระทบเลย แต่คนรวยจะเริ่มเครียด แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการแตกตื่น แห่ถอนเงินจากแบงก์หนึ่งไปอีกแบงก์หนึ่งที่เชื่อว่าปึ้กกว่าทันที จนกว่าจะมีแบงก์ไหนล้มจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคนไทยยังชินกับความเชื่อที่ว่า แบงก์บอกว่าได้ดอกเบี้ย หรืออะไรที่แบงก์ขาย หากบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ เราต้องได้เท่านั้น นั่นคือเราไม่รู้จักความเสี่ยง เชื่อว่าฝากเงินไม่เสี่ยง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเอามากๆ ต่อไปนี้หากเรามีเงินเกิน 1 ล้านบาท ก่อนจะฝากเงิน เราก็ต้องดูด้วยว่า แบงก์ที่เราฝากเขามีฐานะการเงินมั่นคงไหม ไม่ใช่ดูแค่ดอกเบี้ยว่า ใครจะให้ดีกว่ากันหรือตัดสินใจเพียงเพราะรักใคร่ชอบพอกับผู้จัดการแบงก์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา ผู้จัดการแบงก์ที่ไหน ก็ไม่มีปัญญาจะหาเงินมาคืนเราได้ ต่อไปผู้ฝากต้องเข้าใจมากขึ้นว่า เสี่ยงมากได้ดอกเบี้ยมาก เสี่ยงน้อยได้ดอกเบี้ยน้อย ให้เลือกฝากได้ตามอัธยาศัย และจะไม่มีแบงก์ไหนที่ฝากเงินแล้วไม่เสี่ยงอีกแล้ว" นางวรวรรณ กล่าว
นอกจากนี้แล้ว เราต้องรู้จักแสวงหาช่องทางอื่นในการให้เงินทำงานด้วยตัวมันเองให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับการฝากเงินเพียงอย่างเดียว แต่ก็น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ หรือกลัวความเสี่ยงที่จะไปสัมผัสอะไรที่นอกเหนือไปจากเงินฝาก ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากขึ้นได้รับประโยชน์จากการแสวงหาช่องทางเพิ่มเติมจนพบสิ่งเหมาะสมกับเขา คนเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 2 ล้านบัญชี เขาเลือกให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม
นางวรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมมติว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เรามีเงินลงทุน 1 ล้านบาท แล้วเราเลือกนำเงินไปฝากประจำในสัดส่วน 90% ฝากออมทรัพย์ 10% พอถึงสิ้นปี 2552 ผลตอบแทนจากการฝากเงินของเราจะเท่ากับ 2.19% ต่อปีโดยเฉลี่ย โดยมีค่าความเสี่ยงที่อาจไม่เป็นเช่นนั้นที่ประมาณ 0.9% แต่หากเรานำเงินลงทุน 1 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน ไปฝากประจำในสัดส่วน 10% ฝากออมทรัพย์ 5% ลงทุนในพันธบัตร 20% ลงทุนในทองคำ 5% ลงทุนในหุ้น 70% พอถึงสิ้นปี 2552 ผลตอบแทนบางปีโดยรวมติดลบ บางปีบวก แต่โดยเฉลี่ยแล้ว เราจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ 7.06% โดยเฉลี่ยต่อปี โดยมีค่าความเสี่ยงที่อาจไม่เป็นเช่นนั้นที่ประมาณ 33%
"อย่าไปตกหลุมพรางของความไม่รู้ หรือความเชื่อผิดๆ ที่ว่าตลาดทุนคือแหล่งการพนัน มันเป็นแหล่งพนันจริง แต่ก็เฉพาะสำหรับนักพนัน ผู้หวังรวยทางลัดชั่วข้ามคืน แต่เป็นแหล่งลงทุนและทางเลือกของผู้ที่ต้องการแสวงหาหนทางให้เงินเราทำงานได้เป็นอย่างดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ หากไม่มีเวลา ไม่มีความรู้พอ ก็ให้เริ่มด้วยการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวมเหมือนคนอื่นๆ ที่ใช้ช่องทางนี้ โดยจัดสรรเงินลงทุนกระจายไปในช่องทางลงทุนต่างๆ ให้เหมาะสมกับตนเอง แต่หากจะเป็นแฟนคลับตัวยงของเงินฝากต่อไป ก็ไม่มีใครขัด เงินของเรา เราเลือกได้ และต้องเลือกเองด้วย"