xs
xsm
sm
md
lg

Death Bond….พันธบัตรมรณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Smart Money, Smart Life
โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน


Death Bond นี่ไม่ใช่หนังที่จะมาแข่งกับ Death Note นะครับ แต่มันเป็นตราสารหนี้ซึ่งฟังชื่อแล้วอาจจะน่ากลัวอยู่บ้าง แต่แนวคิดและโครงสร้างก็นับว่าน่าสนในทีเดียวครับ

ในต่างประเทศ กรรมธรรม์ประกันชีวิตสามารถซื้อขายได้ ซึ่งเรียกว่า Life Settlements โดยกรรมธรรม์ที่จะนำมาซื้อขายได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติขั้นต่ำตามที่ได้กำหนด ส่วนสาเหตุที่ผู้ทำประกันเอากรมธรรม์ออกมาขายก็มีหลายสาเหตุ อาทิ ความต้องการใช้เงินในปัจจุบันเพื่อการรักษาสุขภาพ หรือมีปัญหาทางด้านการเงิน ความต้องการเปลี่ยนแปลงผู้รับผลประโยชน์จากการตายหรือการหย่าร้าง เอาเงินไปทำประกันใหม่หรือลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ผู้ประกันจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว หรือใกล้จะหมดอายุกรมธรรม์ สามารถขายอสังหาริมทรัพย์ได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิตอีกต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ทำประกันอาจปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อให้เอากรรมธรรม์ไปขายแก่ผู้รับซื้อกรมธรรม์(Provider) ซึ่งผู้รับซื้อนี้จะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ หน้าที่ของผู้รับซื้อก็คือตรวจสอบและโอนสินธิ์กรมธรรม์ให้ถูกต้องตามกฏหมาย และรวบรวมกรมธรรม์เหล่านี้ไปเสนอต่อ SPV เพื่อสร้างเป็นพันธบัตรมรณะหรือ Death Bond ต่อไป

โดยหลักการทั่วไป ราคาที่ซื้อขายกรมธรรม์ จะอยู่ระหว่างมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์และมูลค่าเงินเอาประกัน (Face Value) โดยผู้รับซื้อกรมธรรม์ต่อ (Provider) จะซื้อในราคาที่มีส่วนลดจากมูลค่าเงินเอาประกัน โดยจะเป็นผู้จ่ายเบี้ยรายปีต่อจากผู้ขายกรมธรรม์ ผู้รับซื้อกรมธรรม์จะได้รับเงินคืนเมื่อเจ้าของกรรมธรรม์เดิมเสียชีวิต โดยผลตอบแทนที่จะได้รับเท่ากับ มูลค่าของส่วนลดรับ หักด้วยมูลค่าเบี้ยประกันรายปีที่ต้องจ่ายแทนผู้ขายกรมธรรม์เดิม

และด้วยเหตุนี้เอง ผู้รับซื้อกรมธรรม์ต่อจึงมุ่งหวังที่จะให้ผู้ขายกรมธรรม์เสียชีวิตในระยะเวลารวดเร็ว เพื่อลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายแทน และรับเงินตามมูลค่าเงินเอาประกันโดยเร็ว เนื่องจากมูลค่าของเงินจะมีค่าน้อยลงตามระยะเวลาที่ไกลออกไป ยิ่งไกลก็ยิ่งมูลค่าน้อยลง (Time Value of Money) ถึงตรงนี้อาจจะดูขัดกับคุณธรรมและจริยธรรมในจิตใจบ้างนะครับ คือคนซื้ออยากให้คนที่เคยขายเสียชีวิตและจากเงื่อนไขผลตอบแทนแบบนี้ เราก็ย่อมทำนายได้ว่า มูลค่ากรมธรรม์ของใครจะมีราคาขายในตลาดรองมากกว่ากัน

ลองคิดเล่นๆ นะครับ สมมติให้มูลค่าเงินเอาประกันของกรมธรรม์นาย ก และ นาย ข เท่ากันคือ 1ล้านบาท และทั้งสองคนก็จ่ายเบี้ยเท่ากัน เริ่มทำประกันพร้อมๆ กัน แต่นาย ก มีอายุ 70 ปี และเป็นโรคต่างๆ มากมาย ในขณะที่นาย ข อายุ 60 ปี และสุขภาพแข็งแรง ผู้รับซื้อกรมธรรม์ย่อมยินดีซื้อและจ่ายเงินแก่นาย ก มากกว่านาย ข เราจึงอาจสรุปได้ว่ายิ่งมีอายุและสุขภายไม่แข็งแรง มูลค่าซื้อขายกรมธรรม์ (Life Settlements) ยิ่งแพง
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายกรมธรรม์เพื่อมาทำเป็นพันธบัตรมรณะ อาจเป็นต้นทุนต่ออุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยภาพรวมได้ เพราะยิ่งกรมธรรม์มีสภาพคล่องมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดกรณี Moral Hazard ขึ้นได้ กล่าวคือ เมื่อผู้ประกันตนรู้ดีว่าสุขภาพไม่ดีกำลังจะเสียชีวิต ก็จะรีบทำประกันจำนวนมากแล้วนำไปขายแก่ผู้รับซื้อประกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจประกันชีวิตได้

โดยสรุป Death Bond และ Life Settlements เป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นทางเลือกในการลงทุนและช่วยกระจายความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน โดยเงื่อนไขของผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความยืนยาวของอายุของคนที่อยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ โจทย์ที่ตามมาก็คือทำอย่างไรเราจะทำอย่างไรในการสร้างตลาดตราสารเหล่านี้ขึ้นมา และให้กระบวนการในการสร้างตราสารและการตรวจสอบ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะถ้าทำได้ก็จะเป็นทั้งเครื่องมือบริหารความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน เครื่องมือสร้างสภาพคล่องแก่ผู้ทำประกัน และพัฒนาส่งเสริมให้มีการทำประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น