xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องมือรับความเสี่ยงที่ควรรู้ ก่อนลงทุน LTF-RMF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 การลงทุนในระยะยาว ถือเป็นรูปแบบการลงทุนหนึ่งที่สามารถให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนได้อย่างสวยงาม เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี่ยงชีพ (RMF) เป็นที่ให้ความสนใจแก่นักลงทุนในทุกปี เพราะนอกจากจะสามารถลดหย่อนภาษีได้แล้ว กองทุนในยังให้ตอบแทนที่ดีเมื่อครบอายุการลงทุน เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยเป็นผู้บริหารเงินลงทุนของนักลงทุนเหล่านั้น 
 
แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น นักลงทุนและท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้วว่า ย่อมมีความเสี่ยงอยู่ด้วยเสมอไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงรวมถึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจกับการลงทุน ให้เหมะสมกับสไตร์การลงทุนของแต่ละคน

  
 สำหรับปัจจัยในการพิจารณาความเสี่ยงในการลงทุนนั้น นอกจากการพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่ลงทุนแล้ว เครื่องมือลดความเสี่ยงอีกอันหนึ่งก็คือค่าเบต้า (Beta)  และ  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)  

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน
 
โดยในการตัดสินใจลงทุน นอกจากนักลงทุนจะพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนย้อนหลังแล้ว เรื่องของค่าความเสี่ยงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามเนื่องจากในบางครั้ง อัตราผลตอบแทนที่สูงมักจะมีความผันผวนที่สูงตามไปด้วย หรือที่เรียกว่า  High risk High return  นั่นคือ เมื่ออัตราผลตอบแทนที่สูงก็มักจะมาคู่กับความเสี่ยงที่สูงด้วย ดังนั้นเครื่องมือที่นำมาวัดค่าความเสี่ยงที่นิยมใช้กัน คือ  ค่าเบต้า (Beta) และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)  ซึ่งค่าทั้ง 2 สามารถอธิบายได้ดังนี้
 
 ค่าเบต้า / Beta  คือ ค่าความสัมพันธ์ระหว่างราคาของกองทุนกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งใช้วัดความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของกองทุนใดกองทุนหนึ่งเปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น ค่าเบต้า เท่ากับ 1 จะหมายถึง กองทุนนั้นๆ มีความเสี่ยงเท่ากับตลาดหลักทรัพย์ หากค่าเบต้า น้อยกว่า 1 จะหมายถึง กองทุนนั้นๆ มีความเสี่ยงน้อยกว่าตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

 ส่วน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน / Standard Deviation คือ ค่าความผันผวนของผลตอบแทนของกองทุนเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอัตราผลตอบแทนของกองทุนในประเภทเดียวกัน หากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงหมายถึง มีความผันผวนสูง ในทางกลับกัน หากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำหมายถึง มีความผันผวนที่ต่ำ
 
ก่อนหน้านี้  อดิเทพ วรรณพฤกษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน บลจ. อเบอร์ดีน จำกัด กล่าวถึงการบริหารกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ของบลจ. อเบอร์ดีนว่า ทางบริษัทยังคงเลือกลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพดี มีฐานะทางการเงินมั่นคง รวมถึงการมีรายได้ของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยทาง บลจ.อเบอร์ดีนยังติดตามสถานการณ์ของบริษัทที่ลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนไปตามสถานการณ์

 ทั้งนี้ จากแนวทางการบริหารดังกล่าวส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทุน LTF และRMF ของ บลจ.อเบอร์ดีน อยู่ในอันดับต้นๆ จากการจัดอันดับล่าสุดของลิปเปอร์ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของอเบอร์ดีนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา
 
  นอกจากนี้ การเลือกลงทุนในบริษัทต่างๆ นั้น ทางอเบอร์ดีนจะไม่ดูที่ดัชนีตลาดแต่อย่างใด แต่จะดูที่ผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นหลัก รวมทั้งยังติดตามปัจจัยความเสี่ยงในประเทศและต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ลงทุนอยู่ได้

ส่วนในปีหน้านั้น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ก็บอกว่า ทางอเบอร์ดีน คงไม่ปรับพอร์ตการลงทุนกองทุน LTF และ RMF แต่อย่างใดเพราะพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันค่อนข้างจะแข็งแกร่งอยู่แล้ว อาจปรับเพียงแค่การเข้าไปถือเป็นรายตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจเท่านั้น
 
เข้าใกล้จะสิ้นปีเข้ามาแล้วเชื่อว่านักลงทุนทั้งหลายคงซื้อกองทุน LTF-RMF กันไปแล้ว แต่ก็คงมีอยู่เหมือนกันที่กำลังรอจังหวะที่จะซื้ออยู่ แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนแต่ละคนก็ยังชอบการลงทุนที่หลากหลายตามแต่รูปแบบของแต่ละคน และที่แน่นอนก็คือทุกคนต้องการก็คือผลตอบแทนที่ดี...
 
ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกันการลงทุนกับกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองลงทุนที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญ ก็สามารถสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนได้อีกทางหนึ่ง  นอกจากนี้แล้วการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนยังเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยเช่นกัน
 
 นอกจากนี้แล้ว จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น คงเป็นบทเรียนหนึ่งสำหรับนักลงทุนทั้งหลาย ที่ทำให้นักลงทุนรู้ว่าความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถมีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถรับมือกับมันได้โดยที่ตนเองนั้นไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง...
กำลังโหลดความคิดเห็น