xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายหนี้ เก็บเงิน หรือลงทุน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์Money Guru
โดย ปวเรศวร์ วิภูนาถ
(Pawares@mfcfund.com)

ในสถานการณ์อันยากลำบากภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน หลายคนอาจจะสงสัยว่าควรจะทำอะไรก่อนดีระหว่าง การจ่ายหนี้ การเก็บเงิน หรือการลงทุน สิ่งไหนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่สงสัยเช่นกัน วันนี้ คอลัมน์ Money Guru มีมุมมองดีๆมาเล่าสู่กันฟัง

มุมมองแรก จ่ายหนี้
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การชำระหนี้ก็มีข้อดีที่ว่า เราสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นดอกเบี้ยลงได้ ลองคิดเล่นๆ สมมติว่าคุณเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ 100,000 บาท และคุณต้องจ่ายดอกเบี้ย 20% ต่อปี หมายความว่าในหนึ่งปีคุณต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 20,000 บาท ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น หากลืมวันครบกำหนดชำระหนี้ หรือเกิดเหตุประการใดก็ตาม ทำให้คุณจ่ายเงินล่าช้า หายนะก็จะมาซ้ำเติมคุณทันที ทั้งค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินล้าช้า และค่าธรรมเนียมติดตามการทวงหนี้ ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องเสียเงินจากค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ร่วม 25%

ทีนี้ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคุณยอมละทิ้งเงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งอาจได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 1.5% ต่อปี หากฝากเงินในธนาคารเล็กๆ และปฏิบัติตามเงื่อนไขของธนาคารเคร่งครัด หรือละทิ้งเงินลงทุนซึ่งก็ยังไม่แน่นอนว่าจะได้ดอกผลเท่าไหร่ เอามาชำระหนี้แทน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยจากหนี้ และดอกผลจากการฝากเงินหรือการลงทุนกันแล้ว การชำระหนี้ก่อนดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าอย่างไม่น่าสงสัย

มุมมองที่สอง เก็บเงิน
หากเลือกชำระหนี้ก่อน ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณไม่มีเงินเหลือเลยล่ะ และหากจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ตกงาน หรือเกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกว่า อย่างน้อยคุณควรมีเงินเก็บประมาณ 3-6 เท่าของเงินเดือน เพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้

สุดท้ายแล้วถ้าคุณไม่มีเงินเหลือเอาไว้เพื่อใช้ยามฉุกเฉินเลย คุณก็จะเอาบัตรเครดิตออกมาแล้วก็กดเงิน หรือกู้เงิน Personal Loan และแล้วคุณก็จะกลับเข้ามาสู่วังวนแห่งการเป็นหนี้เหมือนเดิม ดังนั้นหากจ่ายเงินชำระหนี้แค่ขั้นต่ำ เลื่อนการลงทุนออกไป เก็บเงินให้ได้เสียก่อน ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่เลว

มุมมองที่สาม ลงทุน
หากคุณมีเป้าหมายที่จะใช้เงินในอนาคต หรืออยากมีเงินใช้ยามเกษียณ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ การลงทุน ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ซึ่งจากงานศึกษาการลงทุนหุ้นในระยะยาว อาจได้ผลตอบแทนถึง 2 หลัก หรือถ้าจะลงทุนหุ้นกู้ คุณก็มีสิทธิ์ได้รับเงินถึง 5-6 % ต่อปีแบบไม่ต้องลุ้น หากสามารถถือหุ้นกู้ได้ครบกำหนดอายุ นอกเหนือจากนี้ยังมีการลงทุนทางเลือกอื่นๆอีกมากมายที่อาจทำให้คุณรวยไม่รู้เรื่อง เช่น ทองคำ น้ำมัน หรือสัญญาอนุพันธ์ต่างๆ อีกทั้งถ้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คุณก็ยังได้รับเงินภาษีคืนติดปลายนวมมาฝากเงิน หรือชำระหนี้ได้อีกด้วย ฟังดูแล้วทางเลือกนี้ก็ดูดีเลยทีเดียว

แล้วทำไมเราไม่ทำทั้ง 3 อย่างพร้อมๆกันล่ะ?
นับว่าเป็นความคิดที่ดีเลยทีเดียว อย่างแรกคุณต้องสำรวจกระเป๋าเงินตัวเองก่อนว่า มีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนเท่าไหร่ งานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกล่าวไว้ว่า ประมาณ 15% ของรายได้เฉลี่ยมักจะเสียไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น กระเป๋าหลุยส์ มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด หรือของใช้แบรนด์เนมต่างๆ
สมมติว่า ถ้าคุณมีรายรับเดือนละ 50,000
 บาท เงินประมาณ 7,500 บาท จะเป็นเงินที่คุณสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ถ้าคุณสามารถนำเงินส่วนนี้กลับมาได้สักครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเงินประมาณ 45,000 บาท ต่อปีเลยทีเดียว เงินส่วนนี้จะทำให้สถานการณ์ทางการเงินที่ย่ำแย่เริ่มกลับมาดีขึ้นได้ ต่อจากนี้ลองพิจารณาที่สถานะรอบตัวคุณว่า การงานของคุณมั่นคงหรือไม่ คุณมีเงินออม และเงินลงทุนเท่าไหร่ ถ้าคำตอบคือคุณมีฐานะทางการงานที่มั่นคง และพอมีเงินเก็บและเงินลงทุนอยู่บ้าง คุณอาจจะแบ่งเงินที่คุณนำกลับมาได้เป็น 3 ส่วน เก็บออมไว้ 20%(9,000 บาท) แบ่งไว้ลงทุน 20%(9,000 บาท) ส่วนที่เหลืออีก 60%(27,000 บาท) เอาไว้ชำระหนี้ หรือถ้าคุณโชคดีมีเงินโบนัส ก็ให้แบ่งเงินเพิ่มขึ้นตามแผนของคุณในการชำระหนี้ เก็บเงิน และลงทุน

ถ้าคุณไม่มีเงินออม และเป็นกังวลกับหน้าที่การงาน เงินเกือบทั้งหมดของคุณอาจจะต้องเอาไปเก็บไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อความอุ่นใจ แต่ถ้าคุณยังคงเป็นกังวลกับหนี้ของคุณอยู่ คุณอาจจะแบ่งเงินสักครึ่งหนึ่งมาชำระหนี้ก็ได้ ซึ่งถ้าคุณชำระหนี้หมด และเริ่มมีเงินเก็บบ้างแล้ว คุณควรจะพิจารณาอย่างจริงจังในการนำเงินมาลงทุนไว้ใช้ในอนาคตหรือยามเกษียณอายุ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมตามชีวิตของคุณ เพื่อให้ได้รับอัตถประโยชน์สูงสุดและทำตามนั้นอย่างเคร่งครัด สิ่งนี้จะช่วยพัฒนานิสัยทางการเงินของคุณให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณสามารถนำเงินที่คุณสูญเสียไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นกลับมาได้มากขึ้น คุณก็จะปลดหนี้ได้เร็วขึ้น และจะเข้าสู่อิสรภาพทางการเงินได้อย่างแน่นอน

ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น