xs
xsm
sm
md
lg

แบ่งเงิน ไปซื้อ “ทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผมได้มีโอกาสเข้าฟังสัมมนา “The Strategic Investment Case for Gold” ที่จัดโดย World Gold Council (www.gold.org) จึงขอนำความรู้ที่ได้รับ มาวิเคราห์ให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาดูครับ
 ปัจจุบันทองคำที่ขุดขึ้นมาบนผิวโลกมีจำนวน 163,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สมมติเราเอาทองทั้งหมดในโลกมากองรวมกันจะได้ขนาดเท่ากับตึกแถวประมาณ 3 – 4 ห้อง ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มากเท่าไรนัก โดยจากทองคำทั้งหมดที่มี ส่วนใหญ่นำไปใช้งานใน 4 ประเภท ดังนี้

 51% ใช้เป็นเครื่องประดับ
 17% ถือโดยธนาคารกลางเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการพิมพ์เงินตรา
 16% เป็นการลงทุนในรูปต่าง  ๆ เช่น กองทุน ETF, ทองคำแท่ง, เหรียญทอง เป็นต้น
 12% เป็นทองคำที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม Telecom
 แนวโน้มที่ดีของทองคำ
จากที่ได้รับฟังความรู้ในเรื่องของตลาดทอง ทั้งในเรื่องของอุปสงค์ และอุปทาน โดยละเอียด ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีนัยสำคัญ ต่อทิศทางราคาทองคำคือโครงสร้างความต้องการของทองที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในปี 2009 นี้
หลายท่านอาจมองว่าในภาวะทีเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตลาดหลักของทองคำน่าจะชะลอตัวตาม ซึ่ง “จริง” ครับ
โดยในปี 2009 ความต้องการดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่าชัดเจน  อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เช่นในไตรมาส 1 / 2552 ที่ผ่านมาผู้ซื้อทองคำหลักกลายเป็นผู้ซื้อเพื่อการลงทุนสูงถึง 59% ขณะที่ผู้ซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับ และเพื่อการอุตสาหกรรมปรับลดลงเหลือ 33% และ 8% ตามลำดับ
5 เหตุผลสนับสนุนราคาทองคำ
 1. ธรรมชาติที่เป็น  Safe-haven สำหรับการลงทุน  เช่น ในปี 2008 ที่ผ่านมาที่ราคาของหุ้น, ที่ดิน, สินค้าโภคภัณฑ์, น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่ ราคาทองคำในปี 2008 ปรับเพิ่มขึ้นจากบาทละ 13,600 บาท เป็น 14,400 บาท คิดเป็น 10.6% และในปี 2009 ราคาทองคำก็ยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น
 2. ด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ ความผันผวนของทองคำยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ สินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่น รวมถึงสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ เช่นตลาดหุ้น
 3. ทองคำจัดเป็น สินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงที่ดี โดยหากดูจากความสัมพันธ์ของราคาทองคำเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ  จะเห็นว่าบ่อยครั้งราคามีทิศทางที่สวนทางกัน เช่นราคาหุ้นกับราคาทองคำในปี 2008 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
 4.  ทองคำบนโลกมีจำกัด โดย 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณทองคำที่เหมืองทองขุดหาได้ทยอยปรับลดลงเรื่อย ๆ รวมถึงจำนวนแหล่งสายแร่ทองคำที่ค้นพบใหม่ก็ทยอยปรับลดลงจากปีละ 5 - 6 เหมือง มาเป็นปีละ 1 - 2 เหมืองในปัจจุบัน
 5. เมื่อมาดูกันที่ตลาดของนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวม, กองทุนบำนาญ, บริษัทประกัน ซึ่งมีขนาดประมาณ 120 – 140 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2008 ปัจจุบันเป็นการลงทุนในทองคำเพียง 0.58% หรือ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าจากข้อดีของทองคำที่มีในหลายแง่มุม 4 ข้อข้างต้น  จะทำให้สัดส่วนการลงทุนในทองของสถาบันน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตข้างหน้า

ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ  ถ้านักลงทุนสถาบันปรับเพิ่มการลงทุนในทองซัก 3 % จากเม็ดเงิน 120 – 140 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเป็นการลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับปริมาณทองที่มีอยู่บนโลกทั้งหมดในปัจจุบันพอดี  ซึ่งผมเชื่อว่าความต้องการของนักลงทุนจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตครับ ดูอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ สามารถเลือกแบ่งบางส่วนไปลงทุนในกองทุนทองคำได้ มีพนักงานหลายคนครับที่ตัดสินใจแบ่งเงินไปลงกองทุนทองคำถึง 20 – 50% (รวมทั้งตัวผมเองด้วย)

 ช่องทางในการซื้อทองเพื่อลงทุน
 1. ซื้อทองคำแท่ง (96.5%) - ขอแนะนำ “ฮั่ว เซ่ง เฮง” www.huasengheng.com
 2. ซื้อทองคำแท่ง (99.99%) -  มีขายอยู่หลายเจ้าในเมืองไทยครับ ขอแนะนำ “Ausiris” http://www.ausiris.co.th/th/
 3. ซื้อ กองทุนทองคำ - มีหลายบลจ. เสนอขายครับ โดยส่วนใหญ่จะนำไปลงในกองทุน ETF ที่เสนอขายในต่างประเทศ ขอแนะนำ “AYF Gold Fund” http://www.ayfunds.com/th/ โทร 02 - 657 – 5757
 4. ซื้อ Gold Future – อันนี้ต้องศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนเยอะหน่อยครับ ขอแนะนำให้ศึกษาใน Thai Futures Exchnage http://www.tfex.co.th/th/products/goldfutures.html
 สุดท้ายขอฝากกันด้วยรูปของ Safe House ของธนาคาร HSBC ในประเทศอังกฤษ ที่ใช้สำหรับเก็บทองคำแท่งของกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก SPDR Gold Shares โดย State Street Advisors ครับ  (ที่มา http://www.spdrgoldshares.com/sites/us/)
คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย เจษฎา สุขทิศ
ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้
บลจ. อยุธยา จำกัด
ติดตามบทความคอลัมน์ “คุยกับผู้จัดการกองทุน” ที่เคยตีพิมพ์ในอดีต และ Investment Tips อื่น ๆ โดยคุณเจษฎา สุขทิศ, CFA. ได้ใน http://fundmanagertalk.blogspot.com
 
กำลังโหลดความคิดเห็น