xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.โชว์แผนพัฒนากองทุนรวม เพิ่มแอสเซทคลาสรับเงินออม8.8ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.โชว์แผนพัฒนาตลาดกองทุนรวม เปิดทางเงินออมทั้งระบบ 8.8 ล้านล้านบาท มีช่องหาผลตอบแทน เผยภายในปีนี้ คลอดหลักเกณฑ์ "กองทุนอินฟาฯ-REIT" กระตุ้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พร้อมลุยพัฒนาตลาดบอนด์ หนุนเอสเอ็มอีออกหุ้นกู้ แล้วตั้งกองทุนเก็บ หวังดึงผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ก่อนเดินหน้าพัฒนาตลาดบอนด์ฟิวเจอร์ และตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ช่วยผู้ส่งออก ป้องกันค่าเงินผันผวน
นายประเวช องอาจสิทธิกุล
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมจัดการกองทุน เพื่อเพิ่มความหลากหลายในแง่ของแหล่งลงทุน และให้มีความสอดคล้องกับเงินออมทั้งประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 8.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจาก เงินลงทุนในธุรกิจจัดการลงทุน ทั้งกองทุนรวมมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.7 แสนล้านบาท รวมถึงเงินลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 3.1 แสนล้านบาท กองทุนประกันสังคม (สปส.) อีก 5.9 แสนล้านบาท รวมเป็น 2.87 ล้านล้านบาท และรวมกับฐานเงินฝากอีกกว่ากว่า 6 ล้านล้านบาทด้วย

ทั้งนี้ เงินออมทั้งประเทศดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยพอสมควร โดยเฉพาะเงินออมในระบบจัดการลงทุน 2.87 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการพัฒนาให้อุตสาหกรรมดังกล่าวแข็งแรง ด้วยการเพิ่มช่องทางการลงทุนหรือแอสเซทคลาส ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน

“ ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต.เอง ได้พัฒนาให้ตลาดทุนมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีเพียงหุ้นและตราสารหนี้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งตลาดฟิวเจอร์ โกลด์ฟิวเจอร์ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ สามารถลดความผันผวนในทางตรงกันข้ามกับการลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรง”นายประเวชกล่าว

นายประเวชกล่าว สำหรับแอสเซทคลาสที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุนรวมสาธารณูปโภค (Infastructure Fund) กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) กองทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงสูง รวมถึงตลาดซื้อขายตราสารหนี้ล่วงหน้า (Bond Futures) และตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (FX Futures)ด้วย

โดยกองทุนที่คาดว่าจะเห็นได้ก่อน น่าจะเป็นกองทุนรวมสาธารณูปโภคและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยในส่วนของกองทุนรวมสาธารณูปโภคนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนพื้นฐานของประเทศ ว่าจะสามารถใช้ช่องทางในการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างไร โดยหลักเกณฑ์ล่าสุด มีการเปิดกว้างให้สามารถลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้หรือโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีการแบ่งคลาสเพื่อรองรับนักลงทุนในระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยในเบื้องต้น จะศึกษาการออกหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ เช่น การลงทุนเรื่องไฟฟ้า การลงทุนในเขื่อน ก่อนจะสรุปออกมาเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานอีกครั้ง

ส่วนกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ก็กำลังอยู่ระหว่างพิจารณายกร่าง ซึ่งในเบื้องต้น จะแตกต่างกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ประเภท กอง 1 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่จะลงทุนได้ในสินทรัพย์ที่ก.ล.ต.กำหนดไว้เท่านั้น โดยกรอบการลงทุนของ REIT จะกำหนดให้สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่กว้างมากขึ้น คือสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ทุกประเภท จะยกเว้นเพียงอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงาน ก.ล.ต ไม่อนุญาตให้ลงทุนเท่านั้น

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงสูง (High Risk Income Fund) นายประเวชกล่าวว่า กองทุนนี้เป็นกลไกกระตุ้นให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีช่องทางในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเฉพาะบริษัทเอกชนที่มีชื่อเสี่ยงและเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น โดยขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและหารือร่วมกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในเรื่องของซับพลายที่จะออกมาในตลาด

“ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอี มีช่องทางในการใช้แหล่งเงินกู้ผ่านแบงก์เท่านั้น แต่หากเขาสามารถออกหุ้นกู้เองได้ ก็จะมีแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจของเขาเอง ซึ่งหากใช้ช่องทางนี้แล้วต้นทุนต่ำกว่ากู้แบงก์ ตลาดนี้ก็สามารถเกิดได้”นายประเวชกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนดังกล่าว เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอันดับเครดิตของผู้ออกอาจจะไม่สูงมากนัก จึงกำหนดเกณฑ์การลงทุนเบื้องต้นเอาไว้ว่า จะจำกัดเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่รับความเสี่ยงสูงได้เท่านั้น หรือหากเป็นนักลงทุนรายย่อย ก็จะต้องเป็นนักลงทุนที่มีพอร์ตลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งในเรื่องนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะหารือกับบริษัทจัดการกองทุนเพื่อร่วมกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนต่อไป

ในขณะที่ตลาดซื้อขายตราสารหนี้ล่วงหน้า และตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาต่อไปนั้น นายประเวชกล่าวว่า ทั้ง 2 กองทุนนี้ จะมีความเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะ FX Futures ซึ่งการที่ภาคส่งออกของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพี ดังนั้น หากผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าเหล่านี้ มีช่องทางในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้ ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจ โดยหลังจากนี้ สำนักงานจะหารือกับชมรมซื้อขายล่วงหน้า เพื่อศึกษารายละเอียดร่วมกันต่อไป

“แนวคิดในการเพิ่มแอสเซทคลาสเหล่านี้ เป็นการเตรียมความพร้อม ในการรองรับเงินลงทุนในระบบเงินออมของประเทศที่มีอยู่กว่า 8.8 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงการเกิดกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น และรองรับกฏหมายสถาบันประกันเงินฝากด้วย เพราะหลังจากนี้ เงินออมเหล่านี้จะไหลออกมาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า”นายประเวชกล่าว

ในขณะเดียวกัน สำนักงานก.ล.ต. ยังมีแนวคิดในการปกป้องนักลงทุนให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้นด้วย โดยมีแนวคิดในการจัดกลุ่มกองทุนออกมาเป็น 2 ประเภท นั่นคือ กองทุนรวมที่มีความซับซ้อนและกองทุนที่ไม่มีความซับซ้อน เพื่อให้มีความชัดเจนในการกำกับดูแล โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะกำหนดออกมาผ่านการเปิดเผยข้อมูลให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเผยความเสี่ยง ซึ่งหากเป็นกองทุนที่มีความซับซ้อน ผู้เสนอขายต้องทำความรู้จักกับนักลงทุนก่อนว่า ความต้องการดังกล่าวตรงกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ตรงจะต้องเตือนผู้ลงทุนให้เข้าใจชัดเจน โดยในขณะนี้ สำนักงาน กำลังอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทจัดการ ในการจัดหมวดหมู่ว่าแอสเซทคลาสใด ควรจะอยู่ในหมวดใด
กำลังโหลดความคิดเห็น