xs
xsm
sm
md
lg

ศก.แดนปลาดิบไร้วี่แววฟื้นตัว ผลพวงจากวิกฤตยังกดภาคการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันวิจัยนครหลวงไทย รายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Final GDP) ในช่วง ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ของญี่ปุ่น หดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ -3.8% qoq โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับประมาณการณ์ในเดือนก่อนหน้า ที่ประเมินว่า GDP จะมีการหดตัวลดลง -4.0% qoq ในขณะที่เมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้า (AnnualizeRate) เป็นการหดตัวลดลงที่ระดับ -14.2% จากระดับ -15.2% ในประมาณการณ์ในช่วงก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักๆของการชะลอตัวลง ยังคงมาจากการชะลอตัวลงในด้านของภาคการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง ที่ระดับ -26.0% qoq ขณะที่ในด้านของภาคการนำเข้าหดตัวลงในทิศทางเดียวกันอยู่ที่ระดับ 15.0% qoqขณะที่ภาคอุปสงค์ในประเทศ ทั้งในด้านของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยรวมแล้วหดตัวลงอยู่ที่ระดับ -3.0% qoq โดยนอกจากนั้นแล้วในด้านของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ทรงตัวจากระดับในไตรมาสก่อนที่ 0.0% qoq

โดยปัจจัยลบที่มีผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าว ยังคงมาจากทั้งการชะลอตัวลงในด้านของภาคอุปสงค์ในประเทศรวมไปถึงภาคการค้าต่างประเทศ ที่ยังคงโดนผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือได้ว่าค่อนข้างที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น อย่างเช่น สหรัฐฯ ที่เป็นต้นตอของวิกฤติในครั้งนี้ รวมไปถึงหลายๆประทศ ในสหภาพยุโรป เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงถือได้ว่าพึ่งพิงกับภาคการส่งออกอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศคู่ค้า ย่อมที่จะกดดันให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวลงไปในทิศทางเดียวกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพรวมของการส่งออกโดยสุทธิ(Export - Import) ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ที่โดยรวมได้ส่งผลให้ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นหดตัวลงไปกว่า -1.4% หรือกว่า 40% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับประเทศในกลุ่ม G-7 โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเห็นได้ว่าเมื่อมองถึงภาพรวมของการส่งออกโดยสุทธิแล้วจะเห็นได้ว่า ประเทศโดยส่วนใหญ่ แม้จะมีการส่งออกที่หดตัวลง แต่อย่างไรก็ตามแล้วการส่งออกโดยสุทธิจะไม่เป็นการปรับชะลอตัวลงมากนักเนื่องจากทิศทางภาคการนำเข้าก็เป็นการหดตัวลงในทิศทางเดียวกัน และยังถือได้ว่าเป็นไปในอัตราเร่งที่มากกว่าอีกด้วย โดยนอกจากนั้นแล้วเมื่อประกอบไปกับทิศทางของการหดตัวลงของระดับการบริโภคในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่ลดลง รวมไปถึงปัจจัยในด้านของอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงเกิดการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 2 ไตรมาสหลังที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพโดยรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่น่าจะหดตัวลงรุนแรงกว่านี้อีกมากนัก และน่าจะค่อยๆเป็นการฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดได้ เนื่องจากสัญญาณของภาคการผลิตที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มของภาคการส่งออกที่เริ่มมีเสถียรภาพ แม้ว่าเมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้าจะเป็นการหดตัวลงในระดับสูงก็ตาม รวมไปถึงปัจจัยบวกจากการที่กลุ่มผู้ผลิตได้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อทดแทนคลังสินค้าหลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการลดกำลังการผลิตมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอีกนานพอสมควร หลังจากเกิดการหดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกมากก่อนที่ระดับผลผลิตและยอดขายจะกลับมาอยู่ระดับเดิมก่อนช่วงวิกฤต ซึ่งอาจจะกินระยะเวลายาวไปถึงในช่วงปี 2553 เป็นอย่างน้อย และยังรวมไปถึงปัจจัยลบ ในด้านของภาคการจ้างงาน ที่ยังคงอาจจะกดดันให้ทิศทางของระดับอุปสงค์ในประเทศมีการอ่อนตัวลงต่อเนื่องก็เป็นได้

นอกจากนั้น ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2553 ลงเป็นหดตัวที่ระดับ -3.3%จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 0.0% และคาดว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะหดตัว 23.4% ขณะที่การส่งออกจะหดตัวลง 27.6% โดยที่การคาดการณ์ดังกล่าวได้รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 15.4 ล้านล้านเยน ซึ่งทางรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.9% แล้ว

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังได้เปิดเผยตัวเลขของยอดซื้อขายเครื่องจักรที่ชะลอตัวลงกว่าคาด ซึ่งเป็นการสะท้อนความอ่อนแอในภาคการการลงทุน โดยยอดซื้อขายอุปกรณ์และเครื่องจักร (Machine Orders) ของญี่ปุ่น ประจำเดือน เม.ย. 2552 หดตัวลงอยู่ที่ระดับ -5.4% mom มีมูลค่าเหลืออยู่ที่ระดับ 688.8พันล้ายเยน ถือได้ว่าเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากระดับในเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลง -1.3% mom และนอกจากนั้นแล้วยังคงเป็นการปรับลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่ายอดซื้อขายอุปกรณ์และเครื่องจักร จะขยายตัวขึ้นที่ 0.6% mom

ส่วนในเรื่องของการลงทุนนั้น พบว่าการลงทุนภาคเอกชนของญี่ปุ่น ยังคงส่งสัญญาณถึงความอ่อนแอในการกลับมาฟื้นตัวในช่วงถัดไป โดยถึงแม้ว่าตัวเลขระดับยอดซื้อขายอุปกรณ์และเครื่องจักร ในช่วง 2-3 เดือนหลังที่ผ่านมาจะค่อยๆเป็นการปรับขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย มองว่าภาพโดยรวมยังคงน่าจะเป็นการปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากมองว่าการปรับตัวดีขึ้นของตัวเลขระดับยอดซื้อขายอุปกรณ์และเครื่องจักร มีปัจจัยสำคัญจากการที่ผู้ประกอบการได้มีการกลับมาสั่งซื้ออุปกรณ์สินค้าต่างๆ เพื่อบำรุงรักษาตามระยะเวลา หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาได้ลดการสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการผลิตลง เพื่อรับกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งโดยรวมแล้วจึงยังคงถือได้ว่าไม่ใช่การลงทุนในโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแล้วทิศทางการปรับตัวฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องในระยะยาวจึงยังคงถือได้ว่ายังคงขาดเสถียรภาพ

ทั้งนี้สถาบันวิจัยนครหลวงไทยคาดว่าทิศทางของระดับการลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงถัดไปนั้น โดยรวมแล้วยังคงประเมินว่าจะโดนกดดันจากแนวโน้มการหดตัวลงของระดับอุปสงค์ทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มส่งสัญญาณในการปรับฟื้นตัวขึ้นได้เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แต่ภาพโดยรวมเมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้าแล้ว โดยเฉลี่ยยังคงเป็นการปรับตัวลงอย่างชัดเจน และประกอบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบจำนวนมาก ซึ่งโดยรวมยังคงส่งผลให้ทางผู้ประกอบการ ยังคงไม่ต้องเร่งในการลงทุนใหม่ๆเพิ่มขึ้น ดังนั้นแล้วตัวเลขการปรับลดยอดซื้อขายอุปกรณ์และเครื่องจักร ในช่วงเดือน เม.ย. 2552 ที่ผ่านมาจึงถือได้ว่าเป็นภาพที่ยืนยันได้อย่างดีว่าทิศทางของการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมของญี่ปุ่นในช่วงถัดไปแล้วนั้น ยังคงน่าจะตกอยู่ในช่วงของการชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยอย่างน้อยมองว่าทิศทางการหดตัวลงของระดับการลงทุนยังคงน่าจะมีไปจนถึงช่วงปลายปี 2552 เป็นอย่างน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น