xs
xsm
sm
md
lg

หมี หรือ กระทิงวิ่งกันแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้ข่าวดีมีเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นข่าวคราวสมาชิกใหม่จากครอบครัวแพนด้า ช่วงช่วง หลินฮุ่ย ข่าวการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านกูรูทั้งหลายในวงการต่างออกมาวิเคราะห์กันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ฟันธงว่าตลาดตอนนี้เป็นตลาดแบบ “หมีวิ่ง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Bear Market Rally ซึ่งแน่นอนว่าหมีนั้นอย่างไรก็ไม่ใช่กระทิง การลุกมาวิ่งหน้าตั้งแบบกระทิงนั้นก็อาจส่งผลให้เป็นลมหน้ามืด หัวใจวาย ล้มทับนักลงทุน (ประเภทตามแห่) ตายเอาได้

บางท่านอาจสงสัยว่า Bear Market Rally นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร คนถึงพากันพูดถึงกันนัก ผมจึงใคร่ถือโอกาสนี้หาข้อมูลมาเล่าให้ฟังคร่าวๆกัน (ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก CNBC ครับ) ภาวะ Bear Market Rally ที่สร้างความอกสั่นขวัญผวา และถือเป็นต้นตำรับตลาดหมีวิ่งครั้งแรก และน่าจะเป็นครั้งที่น่าขนหัวลุกที่สุดสำหรับนักลงทุนเกิดขึ้นในปี 1929 หรือเมื่อ 80 ปีก่อน โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ระดับ 381.17 จุด ในเดือนกันยายน และปรับตัวลดลงในอีก 2 เดือนถัดมา โดยเป็นการลดลง 23.6% ภายในสองวันและปรับลดลงต่ำสุดที่ 198.69 จุด หรือลดลง 47.9% จากช่วงสูงสุด

ทีนี้มาถึงตอนสำคัญครับ โดยหลังจากตลาดปักหัวลงอย่างรุนแรงแล้ว ก็เริ่มปรับตัวขึ้นอีกครั้ง โดยช่วงนี้ทั้งนักการเมือง และเซียนหุ้นทั้งหลายก็ออกมาเชียร์กันยกใหญ่เลยครับว่าตลาดกลับมาดีแล้ว อนาคตสดใสปิ๊งปั๊ง อย่างโน้นอย่างนี้จนดัชนีดาวโจนส์ขึ้นไปแตะระดับ 294.07 จุด หรือขึ้นมาถึง 48% ในอีกเพียงแค่ 5 เดือนถัดมา

แล้วจากนั้น ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง เป็นเวลาถึง 2 ปีกว่าตลาดจะไปถึงจุดต่ำสุดที่ดัชนี 41.22 จุด (อ่านไม่ผิดหรอกครับ) ลดลงถึง 86% จากช่วงหมีวิ่งในปี 1930

โดยกว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาเท่ากับปี 1929 ก็ใช้เวลาปาเข้าอีก 22 ปี (อ่านไม่ผิดอีกเช่นกัน) นับเป็นโศกนาฏกรรมการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่ยากจะลืมเลือนครับ

จากนั้นก็มีเหตุการณ์หมีวิ่งเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ในปี 1946 1961 1966 และ 1973 แต่ก็ไม่มีครั้งไหนจะแสบสันต์เท่ากับครั้งแรกครับ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหมีวิ่งไปซักพักแล้วแค่หมดแรงยืดเยื้ออยู่อีก 2-3 ปีก่อนจะเริ่มปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ไม่ถึงกับตกต่อไปถึงไหนถึงไหนอย่างในหนแรก

สำหรับตลาดหมีวิ่งที่เป็นยุคใหม่หน่อยก็น่าจะเป็นปี 2000 ซึ่งหุ้นสหรัฐฯประสบปัญหาฟองสบู่ด้านอินเตอร์เน็ตแตก ตามมาด้วยวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งดัชนีตลาดปรับขึ้นอย่างมาก ก่อนจะดิ่งลงพอๆกับที่ขึ้นไปและทุลักทุเลอยู่เกือบปีก่อนจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

โดยครั้งนี้ตลาดดาวโจนส์ต้องใช้เวลาอีกกว่า 6 ปีถึงจะกลับขึ้นไปยืนที่ระดับสูงสุดเมื่อปี 2000 ก่อนวิกฤติฟองสบู่แตกได้

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนคงรู้สึกสยองขวัญว่ารอบนี้หมีจะแวะมาวิ่งกันอีกรอบหรือเปล่า และอาจพาลกลัวการลงทุนไปเลย

จริงๆแล้ว ผมว่าคนที่น่าจะกลัวมากที่สุดคือคนที่ชอบลงทุนตอนหุ้นขาขึ้นครับ คือรอจนใครๆเขาซื้อกันไปก่อนแล้วถึงค่อยเริ่มขยับตัว อันนี้ก็มีสิทธิโดนหมีหน้ามืดล้มทับเอาได้

อันที่จริงถ้าสังเกตดูดีๆแล้ว หากไม่นับ Bear Market Rally ครั้งแรกจะเห็นว่าหากเราลงทุนทุกครั้งที่ดัชนีตลาดดิ่งเหว ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีก็มักจะได้กำรี้กำไรกลับมาค่อนข้างมากทุกครั้ง และก็ไม่ถือว่านานเกินไปสำหรับการลงทุนในหุ้น เพราะการลงทุนในหุ้นให้ได้กำไรชนะเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในภาวะปกตินั้นก็ต้องอยู่ในช่วง 10 ปีขึ้นไปอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเรา “นิ่ง”พอ ไม่ซื้อๆขายๆไปตามกระแส จะเป็นหมีหรือกระทิงวิ่งก็ไม่น่าจะเป็นกังวลแต่อย่างใดครับ

ผมเชื่อว่าผู้รู้ทั้งหลายที่ออกมาให้ความเห็นกันในตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็แอบหวังลึกๆละครับว่าตลาดอาจถึงจุดต่ำสุดเสียที และ ถึงตลาดจะขึ้นจริงขึ้นปลอมยังไง

สำหรับคนเลี้ยงชีพด้วยค่าคอมฯแล้ว ก็ดีกว่าไม่มีวอลุ่มน่ะนะตัวเอง (ฮา)
กำลังโหลดความคิดเห็น