หลังประเทศอินเดียประกาศผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 ปรากฏว่า พันธมิตรแนวร่วมก้าวหน้า (UPA) นำโดยพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส (INC) หรือพรรคคองเกรสของนายมันโมฮาน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นร่วมกับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มแนวร่วมอื่นอีกเพียงเล็กน้อยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองกลับกลายเป็นเสถียรภาพของรัฐบาล ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ใช่ว่าจะมีแต่รัฐบาลใหม่ของประเทศอินเดียที่ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองก็ต้องผ่านบททดสอบนี้ด้วยเช่นกัน แต่ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกของอินเดีย ที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นเฟืองตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกร่วมกับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเรื่องนี้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียชุดใหม่นั้น ย่อมเป็นที่จับตามองของหลายประเทศทั่วโลกที่หวังว่า อินเดียจะเป็นตลาดสำคัญที่ในการจะช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกให้บรรเทาจากภาวะตลาดต่างประเทศซบเซาเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกไปได้รวมทั้งประเทศไทยด้วย...
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยจะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนของรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากคาดว่าการลงทุนของอินเดียในปี 2552 น่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.7 ลดลงจากร้อยละ 12.8 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลอินเดียจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจและผลักดันให้การลงทุนจากต่างประเทศเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลที่กำลังประสบกับปัญหาขาดดุลงบประมาณอย่างหนักในปีนี้ นอกจากนี้ การชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังส่งผลต่อแนวโน้มการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองทรัพย์สินและสาขาการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติจากปัจจุบันที่การลงทุนในอินเดียยังมีข้อจำกัดอยู่มากสำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะการเพิ่มความเป็นเจ้าของในบริษัทประกันและการลงทุนในกิจการค้าปลีกของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับประเทศไทยเองก็นับเป็นโอกาสที่ดีของสาขาการลงทุนในภาคบริการ นับตั้งแต่การก่อสร้าง โรงภาพยนต์ สปา โรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและร้านอาหารไทย รวมถึงห้างค้าปลีกค้าส่ง นอกจากนี้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเช่น การแปรรูปอาหาร การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์เคมี ก็จะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
ผลดีส่งออกไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกเหนือจากภาคการลงทุนแล้ว ภายหลังจากที่ประเทศอินเดียมีรัฐบาลชุดใหม่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยเองอาจจะได้ประโยชน์จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของรัฐบาลอินเดียและการเพิ่มกำลังซื้อให้กับคนในชนบท โดยการกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรครัฐบาลเดิมจะมีประโยชน์ในแง่ของการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการไปแล้วซึ่งจะก่อให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายจนสามารถประสบผลสำเร็จได้
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-อินเดียที่คาดว่าจะลงนามราวต้นปี 2553 รวมถึงความคืบหน้าในการเจรจา FTA ไทย-อินเดียรอบ 2 ที่จะขยายขอบเขตการลดภาษีสินค้าจากเดิม 82 รายการเพิ่มขื้นเป็นกว่า 3 พันรายการ โดย**หลังจาก FTA ไทย-อินเดีย มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2547 ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอดและในปี 2551 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากสถิติพบว่า ไทยใช้สิทธิส่งออกสินค้า 82 รายการถึงร้อยละ 96.1 ทั้งนี้เนื่องจากอินเดียจัดเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูงและค่อนข้างซับซ้อน การลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ส่งผลให้สินค้าไทยมีภาระต้นทุนทาง ภาษีต่ำกว่าประเทศคู่แข่งที่ยังไม่มี FTA กับอินเดียโดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศอาเซียนที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราค่อนข้างสูง** สินค้าที่ไทยใช้สิทธิมากได้แก่ โทรทัศน์สี เครื่องเพชรพลอยทำด้วยโลหะมีค่า
อย่างไรก็ตาม สินค้าเพียง 82 รายการที่ไทยเปิดเสรีกับอินเดียนั้นคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของสินค้าทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ จึงทำให้สินค้าหลายรายการที่ไทยมีความสามารถแข่งขันในตลาดอินเดียสูงยังไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเช่น น้ำผลไม้และผลไม้แปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษ ของเล่นและไฟเบอร์บอร์ด ทั้งนี้การเร่งเจรจาในกรอบทวิภาคีเพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมอีกกว่า 3 พันรายการน่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกไทยเข้าสู่ตลาดอินเดียได้มากขึ้น
นอกจากนี้หาก FTA อาเซียน-อินเดียมีผลบังคับใช้ ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์จากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่สามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศอาเซียนอื่นใน การผลิตสินค้าได้รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมจากกรอบทวิภาคีเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบเป็นต้น
โอกาสของไทยกับรัฐบาลใหม่อินเดีย
บทสรุป ชัยชนะของพรรคคองเกรสของนายกรัฐมนตรีมันโมฮาน ซิงห์ ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรหรือโลกสภา ของอินเดีย ครั้งที่ 15 ที่ประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 ส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียมีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้นเนื่องจากพรรคคองเกรสซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพันธมิตรมีคะแนนเสียงรวมกัน 260 คะแนน ขณะที่พรรคภารติยะ ชนะตะ(บีเจพี) แกนนำฝ่ายค้าน มีคะแนนเพียง 160 คะแนนนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งเข้าจัดการเพื่อนำพาเศรษฐกิจมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อขจัดปัญหาความยากจนในประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากตลาดในประเทศชะลอตัวอย่างหนัก
ทั้งนี้ การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรคคองเกรสด้วยคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนน่าจะช่วยเปิดโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินเดียโดยเฉพาะในแง่ของการเปิดเสรีสาขาการลงทุนและการผ่อนคลายข้อจำกัดการถือครองทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มที่รัฐบาลอินเดียจะกู้เงินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศและการสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนโดยเฉพาะในชนบทน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการลงทุนในภาคก่อสร้างและการส่งออกสินค้าของไทย ประกอบกับความคืบหน้าในการเจรจาและลงนามความตกลงฯ FTA ทั้งกรอบไทย-อินเดียและอาเซียน-อินเดียจะช่วยสร้างโอกาสให้กับภาคส่งออกไทยได้มากขึ้น
โดยคาดว่า สินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิด FTA กับอินเดียคือ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก กระดาษ ของเล่น ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น