xs
xsm
sm
md
lg

'ซิมิโก้'เลิกกองทุนมันนี่มาร์เก็ต เหตุเหลือผู้ถือหน่วยไม่ถึง10ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ซิมิโก้ ประกาศยกเลิก "กองทุนเปิดซิมีโก้เดลี่ พลัส" หลังรายชื่อผู้ถือหน่วยมีเเค่ 10 ราย เเนะนักลงทุนโยกเงินลง "กองทุนเปิดซีมีโก้มันนี่ พลัส"เเทน

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซิมิโก้ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เเจ้งยกเลิกโครงการจัดการกองทุนกองทุนเปิดซิมีโก้เดลี่ พลัส เนื่องจากกองทุนมีผู้ถือหน่วยลงทุนต่ำกว่า 35 ราย ณ วันที่ 24 มีนาคม 2552 ซึ่งมีผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่อยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนจำนวน 10 ราย ส่งผลให้กองทุนดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง โดยบริษัทได้ดำเนินการจำหน่ายหลักทรัพย์เเละทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของกองทุนเปิดซิมีโก้เดลี่ พลัส เเละชำระค่าขายคือให้เเก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเเล้วในวันที่ 27 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา

ทั้งงนี้ นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนเปิดซิมีโก้เดลี่ พลัส สามารถโยกเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว ไปยังกองทุนเปิดซีมิโก้มันนี่ พลัส ที่จะทำการเสนอขายหน่วยลงทุนอีกครั้งหลังเปิดขายช่วงไอพีโอ ตั้งเเต่วันนี้ (30 มี.ค.) เป็นต้นไป

ทั้งนี้ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิขกองทุนกองทุนเปิดซิมีโก้เดลี่ พลัส ณ วันที่ 26 มีนาคม 2552 อยู่ที่ 4,284,473.42 บาท โดยกองทุนดังกล่าว จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 22
มกราคม
2551 เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในสามอันดับแรก ( AAA, AA, A ) ทั้งนี้กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ ธุรกรรมทางการเงิน และ/หรือ เงินฝากที่มีกำหนดการชำระคืนเมื่อทวงถาม หรือมีอายุสัญญา หรือจะครบกำหนดชำระคืนไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลงทุน

ส่วนกองทุนเปิดซีมีโก้มันนี่ พลัส มีจุดเด่นคือลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท ส่วนการลงทุนครั้งต่อไปเเละการขายคืนนั้นจะไม่กำหนดวงเงิน โดยกองทุนดังกล่าวจะลงทุนในตราสารเเห่งหนี้เเละหรือเงินฝาก หรือตราสารทางการเงินอื่นใด ธุรกรรมทางการเงินเเละหรือเงินฝากที่มีกำหนดการชำระคืนเมื่อทวงถาม หรือมีอายุสัญญา หรือจะครบกำหนดชำระคือไม่เกิน 1 ปี นับเเต่วันที่ลงทุนหรือเข้าทำสัญญา ภายใต้หลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์กำหนด กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

นอกจากนี้กองทุนอาจจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) ด้านราคาตราสารเเละหรืออัตราดอกเบี้ยเเละหรืออัตราเเลกเปลี่ยนเงินตราเท่านั้น เเละในกรณีที่ลงทุนในต่างประเทศกองทุนจะทำการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราเเลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Full Hedge) เเละอาจลงทุนในตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเเฝง(Structured Note) โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บลจ.ซีมิโก้ กล่าวว่าถึงการทำธุรกิจบลจ. ซีมิโก้ ว่า ขณะนี้ยอมรับว่าอยู่ระหว่างการการหาช่องทางในการดำเนินธุรกิจ โดยมีความเป็นไปได้ทั้งในการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้นหรือแม้กระทั่งหากถึงเวลาเหมาะสม และมีคนสนใจก็ขายหุ้นออกไป ซึ่งว่าเราไม่มีความชำนาญในการทำธุรกิจบลจ. และการทำธุรกิจนี้ หากจะให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในระดับ 1 หมื่นล้านบาท ถึงจะอยู่ได้และคุ้มที่จะทำธุรกิจประเภทนี้

ส่วนของแนวคิดที่จะนำบลจ.ซีมิโก้ ไปควบรวมกับบลจ.กรุงไทย ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เพราะโครงสร้างการทำธุรกิจที่ทางบล.ซีมิโก้ จะต้องโอนทรัพย์สินไปยังบล.กรุงไทย นั้นเป็นลักษณะของการร่วมพันธมิตรกัน โดยทางซีมิโก้โฮลดิ้งจะถือหุ้นในบล.เคทีซีมิโก้ ในสัดส่วน 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% เป็นการถือโดยธนาคารกรุงไทย ซึ่งโครงสร้างลักษณะนี้จะทำให้ซีมิโก้ไม่ได้ถูกถือหุ้น 100% โดยธนาคารกรุงไทย หรืออีกนัยหนึ่งคือบริษัทไม่ใช่ลูกของธนาคารกรุงไทย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำไปควบรวมกัน

ทั้งนี้ บลจ.ซีมิโก้ ถือหุ้น 99.99% โดยบล.ซีมิโก้ และปิดดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2549 พร้อมกับบลจ. ฟิลลิป ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบล.ฟิลลิปโบรกเกอร์เช่นเดียวกับบลจ.ซีมิโก้ ขณะที่บลจ.แมนูไลฟ์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท แมนูไฟล์ประกันโดยบลจ.ซีมิโก้ เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการไปแล้ว 2 คน โดยคนแรก มีนางดวงพร เติมวัฒนะ ดำรงตำแหน่ง และล่าสุดคือ นายกิตติโชค จิตต์สดศรี ได้ลาออกไปตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. 2551 ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น