xs
xsm
sm
md
lg

INGเพิ่มทุนกองมันนี่มาร์เก็ต5พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ไอเอ็นจี เพิ่มทุนกองทุน “ไอเอ็นจี ไทย แคช แมเนจเม้นท์” อีก 5,000 ล้าน ดันขนาดกองแตะ 2 หมื่นล้าน หลังนักลงทุนทิ้งหุ้น หนีดอกเบี้ยขาลง เเห่ลงกองทุนรวมตลาดเงินเเทน ล่าสุดเตรียมส่งกองทุนที่ลงทุนแบบ Asset Allocation อีก 3 กองทุนเป็นทางเลือกช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้
นายจุมพล สายมาลา
นายจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจกองทุนรวมและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา บลจ.ไอเอ็นจี ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้จดทะเบียนเพิ่มเงินทุนของ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แคช แมเนจเม้นท์”หรือ ING TCMF อีก 5,000 ล้านบาท จาก 15,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 20,000 ล้านบาท

โดยในช่วงที่ผ่านมา วิกฤติการณ์ด้านการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของระบบการลงทุน สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งขณะนี้ผลตอบแทนส่วนใหญ่ล้วนแต่ติดลบทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ผลตอบแทนจากเงินฝากปรับลดลงไปด้วย และมีการประเมินว่าทิศทางดอกเบี้ยยังคงอยู่ในขาลงต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าตราสารทุน

ขณะที่ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น กองทุนตราสารหนี้จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น รวมทั้งกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แคช แมเนจเม้นท์จนทำให้ บลจ.ไอเอ็นจี ต้องขออนุมัติจากทาง ก.ล.ต.เพื่อขยายวงเงิน รองรับกับความต้องการของผู้ลงทุน

นายจุมพล กล่าวอีกว่า จุดเด่นของกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แคช แมเนจเม้นท์ นอกจากจะอยู่ที่การเน้นลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำและมีความมั่นคงคล้ายกับเงินฝากแล้ว ยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งยังมีสภาพคล่องสูง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันและได้รับเงินในวันถัดไป รวมทั้งผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนยังได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แคช แมเนจเม้นท์ มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝากธนาคาร และตราสารทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก รับรอง อาวัล ซึ่งจะเน้นการลงทุนในตราสารที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี

ด้านนายต่อ อินทรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด-กองทุนรวม บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไอเอ็นจี มีแผนที่จะออกกองทุนใหม่อีก 3 กองทุนในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ โดยกองทุนใหม่นั้นจะเป็นกองทุนผสม ที่เป็นการจัดการลงทุนแบบ Asset Allocation หรือการลงทุนเเบบแบ่งประเภทสินทรัพย์ที่จะลงทุนในสัดส่วนต่างๆภายใต้วัตถุประสงค์เป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน ความเสี่ยงที่กำหนดได้ โดยการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวจะเน้นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆให้มรความเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งการลงทุนตามอายุโดยใช้การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยหรือ Dollar Cost Average และ การวางแผนเพื่อการเกษียณ เป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนถึงเป้าหมายการลงทุนได้ง่ายพร้อมทั้งได้รับผลตอบแทนตามที่นักลงทุนวางไว้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน บลจ.กำลังจะเปิดขายหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดไอเอ็นไทย ตราสารหรนี้ระยะสั้น 8M2 ในวันที่ 10-17 มีนาคมนี้ ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่เสนอขายในประเทศทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และ/หรือภาคเอกชน โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตราสารหนี้ที่ออก รับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันการจ่ายเงินโดยสถาบันการเงิน รวมทั้งเงินฝาก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทั้งนี้ตราสารส่วนใหญ่ที่กองทุนลงทุนจะมีอายุคงเหลือประมาณ 8 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลงทุน

ในกรณีที่กองทุนคาดว่าจะไม่สามารถซื้อตราสารที่มีอายุคงเหลือดังกล่าวได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ กองทุนจะเข้าลงทุนในตราสารที่มีอายุยาวกว่า 8 เดือน โดยจะเข้าทำสัญญาขายตราสารดังกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ลงทุนในตราสารดังกล่าว เพื่อให้อายุของสัญญาสอดคล้องกับวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 8 เดือนสำหรับเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารอื่นที่ไม่ขัดต่อประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) หรือ CreditLinked Note
กำลังโหลดความคิดเห็น