xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าแนะรัฐใช้ภาษีล่อใจเอกชน รับมือเลิกจ้างงานจากวิกฤตศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นิด้า”แนะรัฐ สร้างแรงจูงใจหนุนภาคเอกชน จัดตั้งสหภาพแรงงาน เสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มพนักงานดูแลกันเอง ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งสร้างระบบสวัสดิการรองรับการเลิกจ้างในภาวะวิกฤติ

รศ.ดร.จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ GSPA นิด้า เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรมที่ส่งสินค้าไปตลาดต่างประเทศ รวมถึงบริษัทที่รับจ้างผลิต จำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง ส่งผลให้เกิดวิกฤติแรงงาน และกลายเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปแบกรับภาระในการให้เงินช่วยเหลือแก่พนักงานดังกล่าว

โดย ภาครัฐควรเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนธุรกิจขนาดใหญ่ ให้การสนับสนุนให้พนักงานภายในองค์กรรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลสวัสดิการของกลุ่มพนักงาน โดยมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์รองรับ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมาจากการหักรายได้จากเงินเดือนพนักงานที่เป็นสมาชิก

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเกรงว่ากลุ่มพนักงานจะใช้สหภาพแรงงาน เป็นเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์ให้กับกลุ่มพนักงาน จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและการบริหารภายในองค์กร

“การจัดตั้งสหภาพแรงงานในไทย ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและกลุ่มพนักงานมากนัก ทั้งที่ตัวองค์กรสหภาพแรงงาน เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากการปัญหาการเลิกจ้าง เพราะหากธุรกิจมีความจำเป็นต้องปลดพนักงาน สหภาพแรงงานจะช่วยเหลือพนักงานด้วยการจัดหางานใหม่ หรือให้เงินเบี้ยเลี้ยงยามว่างงาน เพื่อช่วยเหลือให้กับกลุ่มพนักงานเหล่านี้ให้มีรายได้จากการว่างงาน และภาครัฐสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลคนว่างงานได้ในทางหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรจะสร้างมาตรการจูงใจหนุนให้ภาคเอกชนเกิดการยอมรับให้กลุ่มพนักงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างกลไกของระบบเข้ามาเสริมและลดปัญหาการว่างงานได้ในทางอ้อม พร้อมกันนี้ ภาครัฐยังต้องเร่งสร้างระบบสวัสดิการรองรับให้กับปัญหาการเลิกจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น