xs
xsm
sm
md
lg

เกร็ดของปีนักษัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด 0-2686-9500

ปีนักษัตร คือปีที่ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ กำหนด 12 ปีเป็น 1 รอบ มีชื่อเริ่มต้นจาก ปีชวด (หนู) ฉลู (วัว) ขาล (เสือ) เถาะ (กระต่าย) มะโรง (งูใหญ่) มะเส็ง (งูเล็ก) มะเมีย (ม้า) มะแม (แพะ) วอก (ลิง) ระกา (ไก่) จอ (หมา) กุน (หมู) กล่าวกันว่า ขนานนามมาจากกลุ่มดาวฤกษ์หรือดาวนักษัตรในท้องฟ้า ซึ่งอยู่เป็นกลุ่มๆ มองคล้ายเป็นรูปหนู รูปโค รูปเสือ ฯลฯ

การเรียกชื่อปีตามรูปสัตว์ 12 ชนิด มีอยู่ในประเทศต่างๆ ในแถบคาบสมุทรอินโดจีน คือ ไทย เขมร มอญ ทิเบต จีน ญี่ปุ่น กล่าวกันว่าอียิปต์ก็มีอยู่บ้าง การนำชื่อสัตว์ต่างๆมาใช้นั้น ตามตำนานของประเทศญี่ปุ่น เล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน บรรดามนุษย์และสัตว์ต่างๆก็รีบร้อนพากันไปเข้าเฝ้าพระบรมศพ สัตว์ที่ไปเข้าเฝ้าครั้งนั้น คือสัตว์ทั้งสิบสองตัวที่กล่าวชื่อมาแล้ว เพื่อเป็นเกียรติประวัติ จึงได้ยกย่องเอาชื่อสัตว์ทั้งสิบสองนั้นมาตั้งเป็นชื่อปี ส่วนการที่หนูซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็ก แต่ได้รับเกียรติเป็นชื่อแรก เพราะหนูกระโดดเกาะหลังวัวที่นำหน้าไปก่อน พอถึงที่หนูก็กระโดดข้ามหัววัวไป หนูจึงถึงก่อนเป็นชื่อแรกของปี วัวถึงเป็นที่สอง และสัตว์อื่นๆ เรียงตามลำดับการเข้าเฝ้า หมูไปถึงช้ากว่าเพื่อน จึงได้อยู่เป็นปีสุดท้าย

ปีใหม่ที่ได้ย่างเข้ามาแล้ว หลายท่านเข้าใจว่าการเปลี่ยนปีนักษัตรก็ใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันตั้งต้น โดยรอบปีของ 12 นักษัตรที่เพิ่งผ่านไป คือปีกุน หรือปีหมู (ธาตุไฟ) สำนวนไทยหลายสำนวนได้นำสัตว์เข้ามาใช้เป็นตัวเปรียบเทียบด้วย เช่น ยื่นหมูยื่นแมว หมูเขาจะหามเอาคานเข้าไปสอด และ หมูไปไก่มา เป็นต้น สำหรับปีนี้ก็จะเป็นปีชวด หรือปีหนู (ธาตุดิน) ส่วนสำนวนที่ได้ยินกันก็เช่น หนูตกถังข้าวสาร หนูติดจั่น และ เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง เป็นต้น แต่วันเปลี่ยนปีนักษัตรหาใช่เช่นนั้นไม่ ?

ในความเป็นจริง ปีใหม่ตามหลักสากล ที่ใช้วันที่ 1 เดือนมกราคม เป็นวันเปลี่ยนปีปฏิทินนั้น เป็นการนับวันตามระบบสุริยคติ คือการนับจำนวนวันเวลาตามการโคจรของโลกรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ (1 ปี มี 365.2422 วัน ทำให้มีการเพิ่มวันที่ 29 เดือนกุมภาพันธ์ในทุก 4 ปี) ในขณะที่ยังมีอีกระบบหนึ่งที่มีการเปลี่ยนปีปฏิทิน ด้วยการนับวันตามระบบจันทรคติ คือการนับจำนวนวันเวลาตามการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก (1 เดือน มี 29 หรือ 30 วัน และ1 ปี มีเพียง 354.36 วัน ทำให้มีการเพิ่มเดือนในทุก 2 หรือ 3 ปี ที่เรียกว่า ปีอธิกมาส เพื่อมิให้เหลื่อมล้ำกับอีกระบบมากเกินไป) หลายประเทศก็ยังใช้ควบคู่ไปกับระบบสุริยคติรวมทั้งไทยเราด้วย ซึ่งมีการกำหนดวันตามลักษณะของดวงจันทร์ที่เห็น คือข้างขึ้นและข้างแรม นั่นเอง

วันเปลี่ยนปีนักษัตรที่ใช้อยู่มีหลายแบบ เช่น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามแบบโบราณของทางจันทรคติ แต่สมัยใหม่เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินหลวง หรือถ้าตามแบบโหราศาสตร์จีน ที่ใช้ในการผูกดวงจีนแล้ว จะเป็นประมาณ วันที่ 4 หรือ 5 เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี สัปดาห์หน้าจะลองเทียบแนวทางการลงทุนในปีหนูกับเรื่องเล่าที่ได้ยินกันบ่อยๆเกี่ยวกับหนู โปรดติดตามอ่านดูนะครับ ในเรื่อง “ราชสีห์กับหนู”
กำลังโหลดความคิดเห็น