xs
xsm
sm
md
lg

Forecasting

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส
บลจ.อยุธยา จำกัด


เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีแล้วนะครับ หลายๆท่านก็คงวางแผนกันว่าจะทำอะไรดีในช่วงปีใหม่นี้ ในขณะที่บางท่านก็อาจจะวางแผนล่วงหน้าว่าปีหน้าจะลงทุนอย่างไรดี ขอให้ท่านนักลงท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตนะครับ

ในช่วงนี้คงจะมีนักวิเคราะห์จากหลายๆสำนักออกมาคาดการณ์มุมมองของปีหน้า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การเมือง ฯลฯ ซึ่งการคาดการณ์ทั้งหลายที่มี อาจเกิดมาจากวิธีต่างๆที่หลากหลาย แต่หลักๆแล้ว วิธีการคาดการณ์หรือการพยากรณ์อาจแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่

1. การคาดการณ์โดยใช้การตัดสินใจ (Judgmental Method) โดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (probability) จากความคิดเห็น หรือใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น การทำการสำรวจความคิดเห็นโดยสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (sample) ซึ่งคาดว่ากลุ่มตัวอย่างน่าจะเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด ซึ่งก็หมายความว่าหากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไร ก็มีความเป็นไปได้ที่ประชากรส่วนใหญ่จะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

2. การคาดการณ์โดยใช้ข้อมูลในอดีต (Time Series Method) ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยการนำเอาข้อมูลทางสถิติในอดีตมาคำนวณเพื่อประเมินทิศทางในอนาคต ตัวอย่างเช่น แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น เป็นต้น

3. การคาดการณ์โดยใช้หลักของเหตุและผล (Causal Method) ซึ่งวิธีการนี้เชื่อว่าการเกิดเหตุของสิ่งหนึ่งจะส่งผลกระทบไปยังเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และนักการเงิน ต่างเชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นต้น

โดยผลจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อาจเกิดมาจากวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 ข้อที่ผมได้กล่าวถึง หรือนักวิเคราะห์บางท่านอาจใช้ทั้ง 3 วิธีผสมกันก็เป็นได้ เพราะในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถให้ผลการคาดการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการณ์การคาดการณ์ทั้งสามวิธีที่กล่าวถึง มักจะมีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในอดีตหรือใช้ข้อมูลในอดีตมาเพื่อพยากรณ์อนาคต โดยยึดสมมุติฐานว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต ตัวอย่างเช่น ในอดีตที่ผ่านมา หุ้นมักจะขึ้นในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น นักลงทุนจึงมักจะเชื่อว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง หุ้นจะปรับตัวขึ้น เป็นต้น ซึ่งจุดอ่อนของสมมุติฐานนี้ก็คือ ในความเป็นจริง เหตุการณ์ในอดีตไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต เพราะอาจมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลมากกว่าก็เป็นได้

สำหรับผลของการคาดการณ์ก็สามารถออกมาได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ใช้ เช่น การคาดการณ์ที่ต้องการดูทิศทางการเคลื่อนไหวของหุ้นว่าจะเป็นบวกหรือลบ การคาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปีหน้าจะอยู่ในช่วงใด (เช่น 900 – 950 จุด) หรือการคาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปีหน้าจะอยู่ที่เท่าไร (เช่น 950 จุด) เป็นต้น

ในทางปฏิบัติ เมื่อเวลาผ่านไป นักวิเคราะห์มักจะมีการปรับข้อมูลให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ผลการคาดการณ์มีความแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กระทรวงพาณิชย์เคยคาดว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัว 12.5% แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถึงแม้ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น แต่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด ทำให้ในเวลาต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งหากท่านนักลงทุนได้ติดตามการคาดการณ์จีดีพีของ ธปท. อย่างสม่ำเสมอ จะพบว่าช่วงของการคาดการณ์จีดีพีใน 1 ปี ข้างหน้ามักจะเป็นช่วงที่กว้าง (เช่น เมื่อสิ้นปีที่แล้ว ธปท. คาดว่า จีดีพี ของไทยในปีนี้จะขยายตัว 4 – 5%) และเมื่อเวลาผ่านไป ช่วงของการคาดการณ์ก็จะค่อยๆแคบลง (เช่น เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4 – 4.5%) และใกล้เคียงค่าที่เป็นจริงมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า การคาดการณ์ต่างๆอาจจะไม่ได้ให้ผลที่แม่นยำเสมอไป อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน เพราะการลงทุนก็คือการนำเงินลงทุนของท่านไปแสวงหาผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นไปตามที่คาด ท่านนักลงทุนก็สามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้ แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด ท่านนักลงทุนก็อาจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมตามสถานการณ์

ท้ายนี้ ก็คงต้องเตือนท่านนักลงทุนเช่นเคยครับว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ท่านนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น