xs
xsm
sm
md
lg

Cash Equitization (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คู่มือนักลงทุน
โดย ดร. สมจินต์ ศรไพศาล
บลจ. วรรณ จำกัด


ทำไมพวกเราจึงมีเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์มากมายนัก
คำถามข้างต้นเป็นคำถามอันเป็นปริศนาพอสมควร เพราะเงินในบัญชีออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยค่อนข้องน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น ซึ่งเหตุผลหลักคือการต้องการความคล่องตัวของการหยิบใช้เงินส่วนนี้นั่นเอง ทำให้อุ่นใจได้ว่า ถ้าต้องการใช้เมื่อไร ก็สามารถใช้ได้ทันที ดังนั้น หลายๆ ท่านจึงยอมสละผลตอบแทนของการลงทุนแบบอื่นที่ดีมาอยู่ในบัญชีออมทรัพย์แทน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

เราจะมาหาทางออกสำหรับเรื่องนี้กันในวันนี้ครับ
เงินที่อยู่ในบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่แล้วเป็นเงินส่วนที่กันไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ และใช้จ่ายเพื่อสภาพคล่อง ซึ่งคนทั่วไปรู้สึกสบายใจที่จะมีเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ประมาณสัก 2 – 3 เดือน ของค่าใช้จ่ายที่ใกล้จะถึง แต่คนจำนวนมากก็มีเงินฝากอยู่ในบัญชีออมทรัพย์เกินกว่านี้ ก็เพราะไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไร หรือแม้แต่คนที่คุ้นเคยกับการลงทุนอยู่แล้ว ในบางขณะก็ไม่รู้ว่าจะลงทุนอย่างไร จึงจอดเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อรอจังหวะการลงทุน การรอแบบนี้ถ้าบ่อยครั้งเข้าก็คิดเป็นเงินจำนวนมากเหมือนกัน ดังนั้น คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราสามารถเลือกหาการลงทุนแบบที่มีสภาพคล่องสูงและในขณะเดียวกันก็ให้โอกาสของการหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนสร้างความมั่งคั่งได้อย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นการเติบโตแบบเดินๆ หยุดๆ ด้วยการจอดเงินในบัญชีออมทรัพย์ในจำนวนที่มากเกินจำเป็น

จุดนี้เองที่ ETF เข้ามามีบทบาทได้...อย่างที่คุยในตอนที่แล้วว่า Cash Equitization คือการบริหารเงินสดให้มีผลตอบแทนแบบหุ้นโดยเฉลี่ย บ่อยครั้งที่เรารู้สึกเชื่อมั่นในภาพใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหนดี แทนที่จะถือเป็นเงินสด เราก็สามารถนำเงินไปลงทุนใน ETF ของดัชนีหุ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ ในกรณีของประเทศไทยก็ใช้ ThaiDEX SET50 ETF (TDEX) นี่แหละสำหรับการลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนคล้ายๆ กับการลงทุนในหุ้นใหญ่ทั้ง 50 ตัวของดัชนีเซ็ท 50

ไหนๆ เราก็พูดถึงการใช้ TDEX ในการทำ Cash Equitization ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องของการบริหารเงินสด (Cash management) แล้ว ผมคิดว่าเราควรจะมองภาพการบริหารเงินสดให้ครบถ้วนไปเลยว่า การบริหารเงินสดให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มจากการเพ่งไปที่วงเงินสดที่เราถือไว้ก่อนว่า อาจแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นส่วนที่ควรเป็นเงินสดจริงๆ ต้องการสภาพคล่องและไม่ต้องการความเสี่ยง กับส่วนที่สองที่อาจเรียกว่าเป็นเงินสดส่วนเกิน

การใช้ TDEX ทำ Cash Equitization เป็นหนึ่งในกลวิธีของการบริหารเงินสดส่วนเกินที่สามารถรับความเสี่ยงได้ คราวนี้เราจะมาคุยกันเรื่องเงินสดส่วนแรกบ้าง ซึ่งก็คือส่วนที่ไม่ได้ต้องการเสี่ยงและต้องมีสภาพคล่อง

ในอดีต เราไม่มีทางเลือกมากนัก การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ จึงเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไป แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกมากขึ้น เช่นการใช้ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบเสี่ยงน้อย คือระยะเวลาการลงทุนสั้นและให้โอกาสของการของการซื้อขายได้ทุกวัน เมื่อกองทุนรวมระยะสั้นสามารถเปิดโอกาสให้ซื้อขายได้ทุกวัน จึงมีความใกล้เคียงกับการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์เป็นอย่างมาก ในเรื่องของความคล่องแคล่ว ซึ่งกองทุนในลักษณะทำนองนี้ก็มีให้เลือกลงทุนได้จากหลายๆ บริษัทจัดการ ซึ่งอาจจะสังเกตุได้จากการตั้งชื่อทำนองว่า Money Market บ้าง Cash Management บ้าง อย่างของที่ บลจ. วรรณ เราใช้คำว่า Daily เพื่อสื่อถึงเครื่องมือออมที่มีความคล่องตัว เข้าออกได้ทุกวัน และกองทุนรวมในลักษณะที่ให้ความคล่องตัวในทำนองดังกล่าว น่าจะให้ผลตอบแทนในราว 2%-3% ต่อปี ซึ่งก็ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งได้ประมาณ 0.75% ต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้สำหรับการบริหารเงินสดดังกล่าว ก็ไม่สามารถกำหนดอัตราผลตอบแทนอย่างตายตัวได้ อีกทั้งนักลงทุนก็ควรจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและความเสี่ยงของกองทุนเหล่านั้นก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย

ท่านผู้อ่านครับ เศรษฐีทุกคนมิได้สร้างความมั่งคั่งด้วยความบังเอิญ แต่ท่านเหล่านั้นเห็นคุณค่าของเงินทองแม้เพียงเล็กน้อย การบริหารเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการใส่ใจในสิ่งเล็กน้อยที่จะส่งผล ให้การสร้างความมั่งคั่งของท่านเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น