บลจ.วรรณ ปลื้มเอยูเอ็มโตตามเป้าหมาย 10% พร้อมเตรียมส่งกองทุนเอฟไอเอฟเพิ่มอีก 1-2 กองภายในปลายปีนี้ เพื่อลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นทั่วโลก ด้านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ยังหาข้อสรุปไม่เรียบร้อย ส่วนบลจ.ทิสโก้จับกระแสคนห่วงวิกฤตซับไพร์มออกกองทุนเปิดทิสโก้ พันธบัตรสหราชอาณาจักร
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) ประมาณ 62,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้นปีที่ 10% จากสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในช่วงต้นปี 2550 ที่มีประมาณ 56,000-57,000 ล้านบาท
สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บลจ.เตรียมจะออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) อีกประมาณ 1-2 กองทุน โดยจะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีนโยบายลงทุนในประเทศทั่วโลก จะเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน 1 กองทุน และนักลงทุนทั่วไปอีก 1 กองทุน ขณะที่แผนการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าจะสามารถสรุปได้ประมาณสัปดาห์หน้า
นายสมจินต์ กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (เแอลทีเอฟ) เนื่องจากกองทุนอาร์เอ็มเอฟที่บริษัทมีอยู่ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบหุ้นทุน แบบผสม แบบตราสารหนี้ และแบบมันนี่ มาร์เก็ต
ส่วนกองทุนแอลทีเอฟมีจำนวน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนแอลทีเอฟแบบจ่ายปันผล แบบไม่จ่ายปันผล และแบบป้องกันความเสี่ยง แต่หลังจากนี้บริษัทจะพยายามเข้าไปพบกับตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนและพยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
ด้านการเข้าไปลงทุนในตลาดของประเทศเกิดใหม่ นั้น ก็ยังเป็นที่น่าสนใจ เพราะกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการเจริญเติบตัวอยูในระดับที่สูง และการเจริญเติบโตโดยเฉลี่ยเป็น 2 เท่าของอัตราการเจริญเติบโตของประเทศที่พัฒนาแล้ว และจากการที่สภาพคล่องยังล้นตลาดทุนทั่วโลก ทำให้เงินทุนจะไหลเข้ามาในอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต มากขึ้นไปด้วย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้าสุทธิ 13.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเงินไหลเข้าสุทธิเข้าไปในอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตประมาณ 1.6-1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
" ตลาดประเทศเกิดใหม่ ยังได้รับอานิสงส์จากราคาของพลังงาน และทองคำที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่มพลังงานสูง ทำให้มีโอกาสเจริญเติบโตสูงไปด้วยจากการที่แนวโน้มทางด้านพลังงานกำลังมาแรง"
ขณะที่นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า บริษัทจะมีการขายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด ทิสโก้ พันธบัตรสหราชอาณาจักร ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรของประเทศสหราชอาณาจักร ตราสารภาครัฐต่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลืออาจลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และเงินฝาก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและสำรองเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุน
" เหตุผลที่เน้นลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเครดิตเรตติ้ง หรืออันดับความน่าเชื่อถือสูงที่สุด และมีนักลงทุนหลายรายต้องการไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ แต่ด้วยสภาวะการณ์ที่ยังคลุมเครือจากวิกฤติซับไพร์ม จึงยังไม่วางใจที่จะไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือแม้แต่พันธบัตรรัฐบาลบางประเทศที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนกรณีที่มุ่งเน้นไปยังประเทศเป็นสกุลเงินปอนด์ เนื่องจากต้องการเลี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินของสหรัฐ เพราะนักวิเคราะห์จากหลายสำนักฯ ต่างมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาน่าจะเข้าสู่สภาวะชะลอตัว "
โดยจากการพิจารณาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่คาดว่าจะลงทุน คือ พันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักร รุ่น 4 03/09 (ครบอายุเดือนมีนาคม 2552) ที่สัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยคาดการณ์ผลตอบแทนประมาณ 5.1% ต่อปี และส่วนที่เหลือจะลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และ/หรือเงินฝาก โดยมีค่าใช้จ่ายของกองทุนประมาณ 0.6% ต่อปี จึงเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนโดยประมาณหลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.5% ต่อปี
กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะไม่มีการซื้อสัญญาฟอร์เวิร์ดเพื่อป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะหากผู้ลงทุนมองว่าในอนาคตค่าเงินบาทต่อเงินสกุลปอนด์ของอังกฤษไม่น่าจะผันผวนมากนัก ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และจะทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า นอกจากนี้จากการที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากอย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่อาจจะถึงเวลาที่ค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าได้ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ทางกามีความตั้งใจที่จะพยายามแทรกแซงการแข็งค่าของเงินบาทอย่างจริงจัง และที่สำคัญกองทุนนี้มิใช่เป็นสกุลดอลลาร์แต่เป็นเงินปอนด์ ดังนั้นความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินดอลลาร์จึงไม่น่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลแต่อย่างใด