xs
xsm
sm
md
lg

FUTURES & OPTIONS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับถอยหลังกันก่อนที่จะมีการซื้อขายออปชันกันอย่างเป็นทางการ ก็อีกไม่นานเท่าไรนะครับ ไม่ทราบว่านักลงทุนทุกท่านมีความเข้าใจในออปชันมากน้อยเพียงใดแล้วครับ ถึงแม้ขณะนี้สถานการณ์การลงทุนยังไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก แต่ความรู้ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถศึกษาได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุดนะครับ ดังเนื้อหาในวันนี้ก็เป็นข้อสงสัยของนักลงทุนที่ส่งมาถามว่า Options ต่างจาก Futures ที่มีการซื้อขายกันแล้วอย่างไร ผมขอใช้โอกาสใน “9 สู่การลงทุน” อธิบายพร้อมยกตัวอย่างให้ทุกท่านเข้าใจอย่างพอสังเขบในบทความนี้

โดยเนื้อหาของบทความนี้จะเริ่มจากความหมายของ Futures และ Options ความเหมือนและแตกต่างกันระหว่าง Futures กับ Options และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ Spec. ของทั้ง 2 สัญญา โดยเทียบกันให้เห็นเลยว่าเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

1)Futures & Options
Futures คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ (Organized Exchange) ซึ่งมี 2 ฝ่ายด้วยกันคือ ฝ่ายซื้อ (Long Position) และฝ่ายขาย (Short Position) โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา

- โดยฝ่ายที่ซื้อ (Long Position) คาดการณ์ว่าทิศทางของตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น

ฉะนั้น ถ้าราคาหลักทรัพย์อ้างอิง (SET50 INDEX) ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดไว้ก็กำไรไม่จำกัดแต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นคือราคาปรับตัวลดลง นักลงทุนที่ Long ไว้ก็ขาดทุนไม่จำกัด

- ในทางกลับกันฝ่ายที่ขาย (Short Position) คาดการณ์ว่าทิศทางของตลาดจะปรับตัวลดลงฉะนั้น ถ้าราคาหลักทรัพย์อ้างอิง (SET50 INDEX) ปรับตัวลดลงตามที่คาดไว้ ก็กำไรไม่จำกัด แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นคือ ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นนักลงทุน Short ไว้ก็ขาดทุนไม่จำกัด

Option คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ให้สิทธิซื้อ (Call Option) และสิทธิขาย (Put Option) แก่นักลงทุน โดยถ้านักลงทุนคาดการณ์ว่า ราคาของ SET50 INDEX จะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปซื้อ Call Option และถ้าคาดการณ์ว่าราคาของ SET50 INDEX จะปรับตัวลดลงก็ไปซื้อ Put Option ไว้ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็ปิดสัญญาหรือปล่อยให้ Option นั้นหมดอายุไป ฉะนั้นไม่ว่าราคา SET50 INDEX จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง นักลงทุนก็สามารถมีความสุขกับการลงทุนได้

2)ความเหมือนและแตกต่างกันระหว่าง Futures กับ Options

หัวข้อนี้แสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบระหว่าง Futures กับ Options ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร โดยอย่างแรกจะแสดงให้เห็น Spec. ของ Futures ที่มีอยู่แล้วก่อนและตามด้วย Spec. ของ Options (ในตาราง 1 และ ตาราง 2)

ตาราง1 และตาราง 2
จากตารางแสดง Spec. ของทั้ง 2 สัญญา สามารถจะสรุปให้เห็นถึงความเหมือนกันและแตกต่างกันหลักๆได้ดังนี้

1)สินทรัพย์อ้างอิง : Futures และ Options มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็น SET50 INDEX โดยรายชื่อของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 6 เดือนตามเกณฑ์ที่ตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2)ตัวคูณดัชนี (Multiplier) : อย่างที่ทุกท่านที่ซื้อขาย Futures อยู่คงทราบว่าตัวคูณดัชนี (Multiplier) คือ 1,000 เช่น ถ้า SET50 INDEX อยู่ที่ 500 จุด แสดงว่ามูลค่าของสัญญา (Contact size) คือ 500 * 1,000 = 500,000 บาท กรณี SET50 INDEX ปรับตัวขึ้นไปที่ 510 แสดงว่าผู้ Long Futures ไว้กำไร 510 – 500 = 10 จุด * 1,000 บาท ขณะที่ผู้ขาย (Short) Futures ขาดทุน 10,000 บาท

สำหรับ Options ตัวคูณดัชนี (Multiplier) เท่ากับ 200 บาท ฉะนั้นถ้า SET50 INDEX อยู่ที่ 500 จุด แสดงว่ามูลค่าของสัญญา เท่ากับ 500 * 200 = 100,000 บาท

3)เดือนที่สิ้นสุดอายุสัญญา : ไม่แตกต่างกันคือ MARCH (H) , JUNE (M), SEPTEMBER (U) และ DECEMBER (Z) , จำง่ายๆว่า “HMUZ”
ตัวอย่างของ Futures เช่น S 50 H 08 ก็คือ SET50 ที่หมดอายุเดือน มีนาคม (H) ในปี 2008
ตัวอย่างของ Options อาจจะมีหลายตัวอย่างหน่อย เช่น

-ถ้าเป็น Call Options
S 50 H 08 C 490 ITM
S 50 H 08 C 500 ATM
S 50 H 08 C 510 OTM

โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจาก Futures คือ
C หมายถึง Call Option

ราคาต่างๆ เช่น 490, 500 และ 510 คือราคาใช้สิทธิ

ITM, ATM และ OTM คือ In-the-Money (สถานะที่ได้ประโยชน์), At-the-Money (สถานะที่ไม่ได้ไม่เสียประโยชน์) และ Out-of-the-Money (สถานะที่เสียประโยชน์ตามลำดับ)

-ถ้าเป็น Put Option
S 50 H 08 P 490 OTM
S 50 H 08 P 500 ATM
S 50 H 08 P 510 ITM
โดยส่วนต่างๆจะเหมือน Call Option ยกเว้น ตัวอักษร P คือ Put Option นั่นเอง

4)ลักษณะของสัญญา
-Futures : คู่สัญญาของ Futures คือ ทั้งฝ่ายซื้อ (Long) และขาย (Short) มีพันธะผูกพัน (obligation) ซึ่งกันและกัน

-Options : ผู้ถือสัญญา หรือ ผู้ซื้อ (Long) มีสิทธิที่จะซื้อ (Call Option) หรือ มีสิทธิที่จะขาย (Put Option) โดยสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ขาย (Short) มีพันธะผูกพันต้องปฏิบัติตามสัญญา (โดยได้รับ premium ตอบแทน)

ในการซื้อขายกันจริงๆนั้น สิทธิของผู้ซื้อ(Long) จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อมีการใช้สิทธิตามสัญญา หรือออปชันหมดอายุโดยไม่ใช้สิทธิ หรือผู้ซื้อทำการขายสิทธิเพื่อล้างฐานะ สำหรับภาระผูกพันของผู้ขาย (Short) จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อมีการปฎิบัติตามภาระผูกพันตามสัญญาออปชัน หรือออปชันหมดอายุโดยไม่ถูกใช้สิทธิ หรือผู้ขายทำการซื้อสิทธิเพื่อล้างฐานะ

5)วิธีการชำระเงิน :
- สำหรับ Futures มีการสรุปกำไรขาดทุนในแต่ละวัน (Mark to Market) ว่าวันนี้กำไรหรือขาดทุนเท่าไรเมื่อเทียบกับเมื่อวาน

- สำหรับ Options นั้นชำระราคาเป็นเงินสดเช่นเดียวกัน (ตามที่ระบุไว้ใน Spec ของ Options)

6)การวางเงินประกัน (Margin)
-Futures : ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย (Long และ Short) สัญญาต้องมีการวาง margin (10% ของมูลค่าสินทรัพย์อ้างอิงหรือ SET50 INDEX)

-Options : ผู้ขายสิทธิ (Short Position) จะเป็นผู้นำเงินมาวางเป็นหลักประกัน โดยรายละเอียดเพิ่มเติม นักลงทุนสามารถศึกษาได้จากเอกสารที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้น

ทั้งหมดนี้ถือเป็นสาระสำคัญที่ยกตัวอย่างให้นักลงทุนได้ศึกษากันก่อนที่จะมีการซื้อขายกันจริงๆ และเมื่อทุกท่านมีความเข้าใจแล้ว ก็ทำให้ความวิตกกังวลในการลงทุนในออปชันนั้นจะลดลงไป เพื่อได้เตรียมพร้อมกับรูปแบบการลงทุนอีกแบบหนึ่งในโลกของการลงทุนกันนะครับ สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทุกๆท่านที่ติดตามผลงานของผมมาโดยตลอดในทุกๆพุธเว้นพุธ รวมทั้งท่านที่ได้ส่งคำถาม และคำแนะนำมามากมาย ท่านใดที่มีคำแนะนำเพิ่มเติมหรือมีข้อสงสัยในการลงทุนต่างๆก็ส่งข้อความมาได้ที่ teerasaknrn@au.edu
กำลังโหลดความคิดเห็น