xs
xsm
sm
md
lg

ลำดับเหตุการณ์ : วิกฤตซับไพร์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปริทรรศน์ เหลืองอุทัย, CFA, FRM
กรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
paritat@scbq.co.th



“Subprime” Mortgage คือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับต่ำ ซึ่ง ณ วันนี้ได้กลายมาเป็นชนวนสำคัญที่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา และกำลังลุกลามไปยังตลาดต่างๆ จนเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจจะนำมาสู่วิกฤตการณ์ในระดับโลกได้*

หลังจากที่ตลาดหุ้นที่สำคัญทั่วโลกได้ทรุดตัวลงมากกว่าร้อยละ 10 ภายในเวลาไม่ถึงเดือน ธนาคารกลางของอเมริกาได้ออกมายอมรับแล้วว่าความเสียหายจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้อาจมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าความเสียหายน่าจะเข้าสู่หลักล้านดอลลาร์หากสถานการณ์ยังคงบานปลายจนควบคุมไม่อยู่

อะไรคือต้นเหตุของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ บทความฉบับนี้จะพยายามสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับตลาดซับไพร์มเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้น

พ.ศ. 2523 เนื่องด้วยข้อจำกัดทางกฏหมาย สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สามารถคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในอัตราที่สูงได้ ทำให้ตลาดสินเชื่อในช่วงก่อนหน้านั้นเป็นตลาดสำหรับผู้กู้เครดิตดีเท่านั้น (Prime) จนกระทั่งมีการประกาศออก The Depository Institutions Deregulation and Monetary Control Act (DIDMCA) ในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2525 The Alternative Mortgage Transaction Parity Act อนุญาตให้ธนาคารสามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Variable Rate) และออกสินเชื่อประเภทที่เรียกชำระคืนเงินต้นบางส่วน ณ วันครบกำหนดอายุ (Balloon Payments) ได้

พ.ศ. 2537 อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อสำหรับผู้กู้เครดิตดี (Prime) หดตัวลง โดยสถาบันการเงินหันมาเพิ่มยอดสินเชื่อด้วยวิธีการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่มีเครดิตต่ำ (Subprime) แทน

ทศวรรต 1990s การพัฒนาตลาดรองสำหรับ RMBS ได้เปิดโอกาสให้สินเชื่อซับไพร์มเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากผู้ให้กู้สามารถนำสินเชื่อดังกล่าวไปทำการ “Securitize” เพื่อขายต่อไปให้นักลงทุนรายอื่นๆ

ปลาย 1990s ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดสินเชื่อซับไพร์มได้รับปัจจัยกระตุ้นที่ดี

มี.ค. 2543 ฟองสบู่ของธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนตได้เฟื่องฟูถึงจุดสูงสุด และแตกลง (Dot.Com Bubble Burst) ส่งผลให้ดัชนี NASDAQ ร่วงลงเกือบร้อยละ 9 ภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน และเป็นผลทำให้ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา (Fed) ตัดสินใจกู้วิกฤตโดยการลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารลง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องต่อไป

11 ก.ย. 2544 เหตุการณ์การก่อการร้ายด้วยวิธีการจี้เครื่องบินโดยสารพาณิชย์เพื่อบังคับให้พุ่งชนอาคารที่สำคัญ (หรือที่รู้จักกันในนาม “9/11”) ส่งผลทำให้ธนาคารกลาง (Fed) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าในระบบเศรษฐกิจ

ปลายปี 2544 สินเชื่อรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Adjustable Rate Mortgage (ARM)” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยมียอดการกู้มากกว่าสินเชื่อบ้านแบบปกติ

25 มิ.ย. 2546 ธนาคารกลาง (Fed) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน Fed Funds Rate ลงจนถึงระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี ที่อัตราร้อยละ 1.00

2544-2549 อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ประกอบภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟู นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ยอดการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของชาวอเมริกัน ตลอดจนราคาอสังหาริมทรัพย์ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนก่อตัวขึ้นเป็นฟองสบู่

30 มิ.ย. 2547 เพื่อยับยั้งภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของอเมริกา (Fed) เริ่มต้นวัฏจักรใหม่โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 17 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate สูงขึ้นจากระดับที่ต่ำสุดที่ร้อยละ 1 มาถึงร้อยละ 5.25 ในเดือนมิถุนายน 2549 และเป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในทุกวันนี้

พ.ศ. 2547 มูลค่าตลาดรองที่เกิดจากการแปลงสินเชื่อซับไพร์มเป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เช่น RMBS และ CDO ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีขนาดที่สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

ต.ค. 2548 จุดเริ่มต้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ขาลงในประเทศสหรัฐอเมริกา

2548-2549 อัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการสร้างบ้านใหม่ตกลงถึงจุดต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยชะลอความร้อนแรงลง ส่งผลให้อัตราการเบี้ยวหนี้สินเชื่อบ้าน (Mortgage Delinquency Rate) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้กู้ประเภทซับไพร์มได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ก.พ. 2550 ธนาคาร HSBC ตั้งสำรองผลขาดทุนจำนวน 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจซับไพร์ม

12 มี.ค. 2550 การซื้อขายหุ้นของ New Century Financial ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อซับไพร์มรายใหญ่ของอเมริกาต้องถูกระงับลงชั่วคราว เนื่องด้วยเกรงว่าบริษัทกำลังจะล้มละลาย

16 มี.ค. 2550 บริษัทสินเชื่อซับไพร์มอีกแห่งคือ Accredited Home Lenders Holding ประกาศว่าจะขายทิ้งพอร์ตสินเชื่อมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์ สรอ. ที่ราคาถูก เพื่อระดมเงินสดมาใช้ในกิจการ

2 เม.ย. 2550 บริษัทสินเชื่อ New Century Financial ประกาศล้มละลาย โดยยื่นขอความคุ้มครองชั่วคราวจากศาล (Chapter 11) หลังจากถูกบังคับให้รับซื้อหนี้ซับไพร์มด้อยคุณภาพมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

17 พ.ค. 2550 ประธานธนาคารกลางอเมริกา นาย Ben S. Bernanke กล่าวยืนยันว่า Fed ยังคงมั่นใจว่าปัญหาซับไพร์มจะไม่ลุกลาม

24 พ.ค. 2550 หุ้นของบริษัทการเงินชั้นนำ Bear Stearns ถูกเทขายอย่างหนัก หลังนักลงทุนเริ่มเป็นกังวลกับฐานะความเสี่ยงของบริษัทต่อตลาดซับไพร์ม

14 มิ.ย. 2550 Bear Stearns ขายทอดตลาดสินทรัพย์ในกองทุน Hedge Funds ของตน ที่ลงทุนในตลาดซับไพร์ม

20 มิ.ย. 2550 Merrill Lynch ยึดพันธบัตรมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ที่ Bear Stearns วางไว้เป็นหลักประกันสำหรับเงินกู้ของ Hedge Funds ก่อนที่จะขายพันธบัตรดังกล่าวออกไปในตลาดเพื่อระดมเงินสดคืนบางส่วน

22 มิ.ย. 2550 Bear Stearns แถลงว่าจะสนับสนุนเงินกู้จำนวน 3,200 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือ Hedge Funds อีกกองหนึ่งของตนชื่อว่า “High-Grade Structured Credit Strategies Fund” ซึ่งนับเป็นยอดเงินที่ใช้กับกองทุนที่มากที่สุดในรอบทศวรรต

4 ก.ค. 2550 หน่วยงาน Financial Services Authority (FSA) ของอังกฤษประกาศว่าจะเอาผิดกับบริษัทนายหน้า 5 แห่งที่ขายสินเชื่อซับไพร์มให้กับลูกค้าที่ไม่สมควรลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว

10 ก.ค. 2550 รายงานวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าสินเชื่อซับไพร์มของอังกฤษจะโตเร็วกว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปกติ โดยตลาดซับไพร์มของอังกฤษคาดว่าจะมีขนาดเท่ากับ 3.15 หมื่นล้านปอนด์ในปี 2554

13 ก.ค. 2550 บริษัท General Electric ตัดสินใจขายทิ้งธุรกิจสินเชื่อซับไพร์มของตนที่ชื่อว่า WMC Mortgage ซึ่งเพิ่งซื้อมาเมื่อปี 2547

18 ก.ค. 2550 Bear Stearns แจ้งลูกค้าที่ลงทุนในกองทุนซับไพร์มของตนว่าจะสูญเงินลงทุนเกือบทั้งหมด

19 ก.ค. 2550 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Ben S. Bernanke ออกมายอมรับว่ามูลค่าความเสียหายของปัญหาซับไพร์มอาจจะขึ้นไปสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์

27 ก.ค. 2550 ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มได้ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวอย่างหนัก โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลงถึงร้อยละ 4.2 ภายในวันเดียว ซึ่งนับเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี

31 ก.ค. 2550 ลูกค้าพร้อมใจกันถอนเงินลงทุนในกองทุนของ Bear Stearns จนบริษัทต้องปิดรับใบถอน

1 ส.ค. 2550 ตลาดหุ้นไทยทรุดตัวลงกว่า 26 จุด (3.1%) และตกลง 4 วันติดต่อกัน


3 ส.ค. 2550 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงทรุดตัวหนักอย่างลง โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลงกว่าร้อยละ 2.1 หลังจากนักลงทุนเกรงว่าจะมีสถาบันการเงินอีกจำนวนมากที่มีปัญหากับซับไพร์ม

5 ส.ค. 2550 นาย Warren Spector ซึ่งดำรงตำแหน่ง Co-president ของ Bear Stearns ประกาศลาออก

6 ส.ค. 2550 บริษัทสินเชื่อซับไพร์มรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งชื่อว่า American Home Mortgage ประกาศล้มละลายและปิดกิจการ

7 ส.ค. 2550 ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวว่าธนาคารมีการลงทุนใน CDO คิดเป็นเงินจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 6.4% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด โดยในส่วนนี้เป็น Subprime CDO จำนวน 1.8 พันล้านบาท หรือ 0.7% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด และได้ตั้งสำรองเผื่อค่าการขาดทุนที่ยังไม่ได้บันทึกไว้ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 726 ล้านบาทแล้ว หลังจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาเปิดเผยว่ามีธนาคารพาณิชย์ของไทย 4 แห่งไปลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDOs) จำนวนทั้งสิ้น 715 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นของธนาคารไทยธนาคารเพียงแห่งเดียว 420 ล้านดอลลาร์ โดยมี CDO ที่อ้างอิงกับ Subprime Loan ในตลาดสหรัฐ จำนวน 50 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 160 ล้านดอลลาร์ ธนาคารกรุงเทพ 50 ล้านดอลลาร์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 80-85 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการลงทุนของทั้ง 3 แห่งเป็นการลงทุนในตราสาร CDOs ที่หนุนโดยตราสารที่อ้างอิงกับสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่ Subprime Loan

9 ส.ค. 2550 ธนาคารฝรั่งเศสชื่อ BNP Paribas ขอระงับกองทุน 3 กอง มูลค่า 2,000 ล้านยูโร เนื่องจากไม่สามารถทำการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ในกองทุนดังกล่าวได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดซับไพร์ม

9 ส.ค. 2550 ธนาคารเนเธอร์แลนด์ชื่อว่า NIBC ประกาศผลขาดทุนมากกว่า 137 ล้านยูโร จากการลงทุนใน Asset-Backed Securities (ABS)

9 ส.ค. 2550 ธนาคารกลางของยุโรป The European Central Bank (ECB) ตัดสินใจอัดฉีดเงินจำนวน 95,000 ล้านยูโร เข้าสู่ระบบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องอันสืบเนื่องจากความกลัวในวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาและของญี่ปุ่น ก็ได้ตัดสินใจดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

10 ส.ค. 2550 ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงระส่ำอย่างหนัก ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษลดลงถึงร้อยละ 3.7 ซึ่งมากที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางของยุโรป (ECB) ต้องอัดฉีดเงินเพิ่มอีก 61,000 ล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ

13 ส.ค. 2550 Goldman Sachs ประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สำหรับกองทุนHedge Funds ของตน และธนาคารกลางของยุโรป (ECB) อัดฉีดเงินในรอบที่สามอีก 47,700 ล้านยูโร ในขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็เพิ่มเงินอัดฉีดเช่นกัน

16 ส.ค. 2550 อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพร์ม (Delinquency Rate) ได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 13.46% ในขณะที่ดัชนี FTSE 100 ของตลาดหุ้นอังกฤษตกลงกว่าร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่มากที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ในขณะที่บริษัทสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา Countrywide Financial Corp. ประกาศว่าได้ทำการกู้เงินสดจากธนาคาร 40 แห่งเป็นจำนวนเงิน 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว และจะทำการปลดพนักงานออกจำนวนมากเพื่อลดขนาดของธุรกิจลง

16 ส.ค. 2550 ตลาดหุ้นไทยตกลง 5 วันติดต่อกัน โดยดัชนี SET ลดลงแล้วทั้งสิ้น 80 จุด

17 ส.ค. 2550 ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) สร้างความประหลาดให้กับตลาด ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ลงร้อยละ 0.50 เหลือ 5.75% ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นตอบรับอย่างคึกคัก โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 230 จุด (1.8%)


21 ส.ค. 2007 ตลาดหุ้นเอเซียขานรับข่าวดีจากอเมริกากันอย่างถ้วนหน้า โดยดัชนี SET ของไทยปิดตลาดสูงขึ้นกว่า 33 จุด (4.4%) อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบธนาคารจำนวน 1 ล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็นเข้าไปพยุงระบบการเงินรอบที่ 5 แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น