ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ถกเดือดในวงเสวนาการส่งเสริมโอกาสการจ้างงานคนพิการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่นวอนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเปิดโอกาสให้คนพิการได้ทำงานเพิ่ม โดยเฉพาะภาครัฐจ้างคนพิการไม่ถึง 1% ทั้งที่กฎหมายตราไว้จ้างงาน 100 คนต้องมีสัดส่วนผู้พิการ
1 คน ย้ำหากคนพิการได้ทำงานตามความเหมาะสมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เป็นภาระของสังคม
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (27 ก.ค.) ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น บ้านไก่นา ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และกรรมการ คสช. เป็นประธานการประชุม "การส่งเสริมโอกาสการจ้างงานคนพิการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์" โดยมี ดร.ธิรากร มณีรัตน์ ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่น แนะนำกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม
จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง "วิสัยทัศน์และบทบาทขององค์กรในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ" โดย พลอากาศตรี สถิตพงศ์ ภิรมย์ศรี นายกสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย พร้อมด้วยการนำเสนอข้อมูลโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ โดยนางมานิษา อนันตพล เลขาธิการสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย พร้อมทั้งเปิดเวทีซักถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น "การนำเสนอแผนงานและแนวทางการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์
นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และคณะกรรมการ คสช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้เพื่อคนพิการทั่วประเทศที่ลงทะเบียนประมาณ 1.7 ล้านคน ซึ่งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในเขตพื้นที่ 7 หรือ กปข.7 ทำงานร่วมกับสมาคมคนพิการปีนี้เป็นปีที่ 8 แล้ว การประชุมครั้งนี้เราต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน อย่างน้อยต้องทราบว่าคนพิการของเราจบการศึกษาระดับไหนบ้าง ฝึกอาชีพอะไรบ้าง มีจำนวนกี่คน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปหารือกับภาคเอกชน ทั้งหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม เราต้องทราบข้อมูลให้ครบทั้ง 4 จังหวัดว่าคนพิการต้องการทำงานอะไร จะมีการประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดให้เข้าช่วยเหลือคนพิการจะได้มีงานทำ
ดร.ธิรากร มณีรัตน์ ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่น ระบุว่าปัจจุบันคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานมีงานทำจริงๆ เพียง 25% ถือว่าน้อยมาก เราอยากได้โอกาสให้คนพิการได้มีสิทธิจ้างงานด้วย โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายว่าถ้าหากมีพนักงาน 100 คน ต้องมีคนพิการได้ทำงาน 1 คน ปรากฏว่าทุกภาคส่วนก็มีการจ้างงานกันมากขึ้น แต่ในหน่วยงานภาครัฐกลับมีการจ้างงานคนพิการไม่ถึง 1% มีหน่วยงานที่จ้างถึง 1% ไม่กี่หน่วยงาน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าหน่วยงานภาครัฐ หรือสถานประกอบการต่างๆ ให้โอกาสคนพิการเพียง 1% เข้าไปทำงานตามกฎหมาย ก็จะขอบคุณมาก
ณ ปัจจุบัน คนพิการในพื้นที่เขต 7 จังหวัดกลุ่มร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์ มีอยู่ประมาณ 120,000 กว่าคน และอยู่ในวัยทำงาน มีการจ้างงานอยู่ประมาณ 3,000 กว่าคน เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น โดยความยากลำบากของคนพิการ ทั้งตามองไม่เห็น เดินไม่สะดวก สภาพจิตใจที่ต้องการความดูแล หากได้รับการจ้างงาน ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนพิการในเขต 7 ดีขึ้น
ด้าน นายอดิเรก หงส์พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการดำเนินงานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนในนามมูลนิธิเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่คอยช่วยเหลือผู้พิการด้านการมองเห็น เป็นองค์กรที่ไม่ได้มองหาผลประโยชน์ผลกำไร แต่เป็นองค์กรคอยให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้พิการ และคอยต้อนรับผู้ใจบุญทุกท่านที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนคนตาบอดและเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการผ้าป่ามหากุศล แม้แต่โครงการขายเสื้อเพื่อช่วยเหลือคนพิการ
ในส่วนหน่วยงานภาครัฐ เราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้เข้ามาสนับสนุนค่าเล่าเรียนของนักเรียน ตอนนี้มีนักเรียน 80 กว่าคน ทุกคนที่มาอยู่กับเราก็เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนกินนอน ต้องดูแลเขาทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินและเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ทุกอย่าง ดังนั้นโรงเรียนธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดจังหวัดขอนแก่นยังรอความเมตตา จากผู้แทนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีจิตศรัทธาอันเป็นกุศล
โดยเฉพาะช่วงนี้ทางคณะกรรมการของเราได้จัดทำเหรียญบูชาหลวงปู่ผาง ของอำเภอมัญจาคีรี ปลุกเสกโดยหลวงปู่ศิลา พระเกจิชื่อดังของภาคอีสาน และยังเปิดให้บูชาอยู่ ชุดมหาโชค บูชาชุดละ 1,999 บาท เหรียญหลวงปู่ผางทองดำ บูชาเหรียญละ 199 บาท เพื่อจัดหารายได้เข้ามูลนิธิ ช่วยเหลือคนพิการต่อไป และทางโรงเรียนเราก็ยังรอรับบริจาคจากทุกหน่วยงานที่มีจิตศรัทธาเพื่อคนตาบอดจังหวัดขอนแก่น
ขณะที่นางสาวไพรวัลย์ ปะกิระเนย์ ตัวแทนสมาคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาส อำเภอวาปีปทุม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ในการทำงานนั้นอยากให้หน่วยงานภาครัฐช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการ เพราะว่าการจ้างงานคนพิการ เป็นการให้โอกาสคนพิการได้มีอาชีพ มีรายได้ให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และในอีกมุมหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นสามารถเป็นต้นแบบคนพิการในพื้นที่ที่สามารถทำงานเป็นจิตอาสา และพร้อมที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้
นางสาวไพรวัลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวมีเยอะมากที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่มีอุปกรณ์ที่จะออกไปข้างนอกได้ และตนซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวด้วยก็ถูกกดทับด้วยความเป็นผู้พิการ จึงไม่สามารถทำงานให้เกิดคุณค่า แต่พอได้ลงพื้นที่มาทำงานร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้พิการด้วยกัน ทำให้ตนรู้ว่าคนพิการอย่างเราก็สามารถทำงานได้ จึงเป็นที่มาว่าตนมีความพยายามที่จะเข้าร่วมในการทำงานของผู้พิการ และทางหน่วยงานจึงได้มองเห็น ความสามารถของตน โดยมูลนิธินวัตกรรม ที่ได้มองเห็นความสามารถ ก็เลยให้โอกาสสร้างงานคนพิการ แล้วตนเองก็ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ พร้อมทั้งทำงานประสานสิทธิบรรเทาทุกข์ด้วย
ปัจจุบันก็มีน้องๆ ผู้พิการเข้าสู่กระบวนการจ้างงานด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ทำงานในหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดมหาสารคาม ตอนนี้มีทั้งหมดประมาณ 26 คน และก็มีการส่งเสริมอาชีพด้วยอยู่ประมาณ 8 คนด้วยกัน
ส่วนบริษัทเอกชนที่มีการจ้างงานผู้พิการก็คือบริษัทแลคตาซอย ซึ่งได้ให้ทำงานในด้านประสานสิทธิ์บรรเทาทุกข์ เปรียบเสมือนการจ้างงานให้ผู้พิการไปทำงานเพื่อคนพิการ โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ช่วยสนับสนุนในการทำงานร่วมกันต่างๆ ส่วนตนเองก็ได้มีเพื่อนร่วมงานและได้ทำงานในส่วนตรงนี้ด้วย ตนก็ได้รับบทบาทจากสมาคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสของอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้รับโอกาสเป็น นปค. คือหน่วยประสานการจ้างงานคนพิการในพื้นที่ ตนก็ได้รับโอกาสทางสังคมด้านนี้ด้วย การผลักดันให้ก่อเกิดกฎหมายคุ้มครองดูแลคนพิการ มาตรา 35 หรือมาตรา 33, 34 ส่งผลให้ผู้พิการในชุมชน ได้มีโอกาสทำงานมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดีมาก