ขอนแก่น-เปิด 5 ประเด็นสำคัญด้านสุขภาวะ 68 ที่กำลังพัฒนาเข้าสู่งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 พร้อมไทม์ไลน์การรับฟังความคิดเห็นระดับภาค-ประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะฯ แบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง จับตาโค้งสุดท้าย 19 ก.ย. นี้ คจ.สช. ประกาศอย่างเป็นทางการ ประเด็นไหนผ่านจะเข้าสู่กระบวนการรับรอง และเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบเป็นนโยบายชาติ
มีรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. 2567-2568 ครั้งที่ 3/2568 ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2568 ซึ่งมี นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธาน คจ.สช. เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบความคืบหน้าการพัฒนานโยบายสาธารณะที่จะเป็นระเบียบวาระในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2568 ตลอดจนแผนการสื่อสาร รูปแบบการจัดงาน และหลักเกณฑ์การเข้าร่วมงานที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2568
นายสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประเด็นด้านสุขภาวะจำนวน 5 ประเด็น ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับเข้าสู่การแสวงหาฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 โดย คจ.สช. คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 19 ก.ย. 2568 และจะสามารถประกาศประเด็นอย่างเป็นทางการได้ว่าในปี 2568 จะมีวาระสุขภาวะใดบ้างที่เข้าสู่การพิจารณาบ้าง ซึ่งหากระเบียบวาระใดที่ได้รับการรับรองในงานสมัชชาสุขภาพฯ ก็จะถูกเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นนโยบายสาธารณะของประเทศไทย พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
“ทั้ง 5 ประเด็นนี้ ถือว่ายังอยู่ในเส้นทางที่จะสามารถพัฒนาเพื่อเข้าเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ ซึ่งในหลายประเด็นไม่เพียงแต่จะเชื่อมโยงการทำงานระดับพื้นที่ของประเทศ แต่ยังเป็นการเชื่อมไปถึงภาพใหญ่ของโลก มองไปในอนาคต เป็นทิศทางอันดีของการนำเศรษฐกิจกับสุขภาพมาจับมือกันและตอบสนองกับสภาวะปัจจุบัน ช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำของโลกด้านระบบสุขภาพไทย” ประธาน คจ.สช. ระบุ
สำหรับประเด็นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วย 1. การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระเบียบวาระนี้มุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และความเป็นธรรมในการเข้าถึง บนขอบเขตเนื้อหาที่เน้นการจัดการทั้งวงจรชีวิต ตั้งแต่การผลิต ติดตั้ง ใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด พร้อมกับมีการเน้นบทบาทหลักไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นระดับชาติในวันที่ 25 ส.ค. และรับฟังความคิดเห็นระดับภาคในช่วงเดือน ต.ค. ต่อไป
2. การสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) ระเบียบวาระนี้มุ่งสร้างศักยภาพผู้สูงอายุให้คงอยู่ในตลาดแรงงานและมีรายได้เพียงพอ สนับสนุนบริการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและเป็นมิตร และสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติในช่วงเดือน ส.ค. และรับฟังความคิดเห็นระดับภาคในช่วงเดือน ต.ค.
3. ระบบสุขภาพในภาวะวิกฤต: ระบบจัดการเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม-ยั่งยืน มุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมและการป้องกันผลกระทบก่อนเกิดเหตุเป็นสำคัญ โดยขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนานโยบายที่มี พญ.ประนอม คำเที่ยง เป็นประธาน ซึ่งกำลังจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 31 ก.ค. เพื่อวางกรอบทิศทางนโยบาย
4. กลไกร่วมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อรองรับระบบสุขภาพระดับพื้นที่/ชุมชนท้องถิ่น โดยระเบียบวาระนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับพื้นที่ ซึ่งต้องการนโยบายที่มีความจำเพาะเจาะจงตามบริบทที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะทำงาน ก่อนจะจัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมในลำดับถัดไป
5. ผลกระทบของภูมิรัฐศาสตร์ต่อระบบสุขภาพไทย มีที่มาจากสถานการณ์ความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงนโยบายขึ้นภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยระเบียบวาระนี้ตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ สามารถรองรับและตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวนและเกินคาดเดา ขณะนี้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน และประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตของประเด็นในวันที่ 24 ก.ค.นี้
ในส่วนของรูปแบบการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 จะมีความน่าสนใจกว่า 17 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดนัดนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะมีจุดเด่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการแบบออนไลน์ การทำ Photo booth การจัดกิจกรรม Policy Passport เพื่อสะสมตราหรือไอเดียแลกของรางวัล รวมไปถึงการมีคลินิกนโยบาย ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการทำนโยบายอย่างไรไม่ให้ติดดอยหรือเจอทางตัน ตลอดจน Policy Entertainment ผ่านการเล่น เรียนรู้ ปฏิบัติร่วมกัน และที่สำคัญคือแม้ว่าในวันงานจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่งานนี้จะแสดงให้เห็นถึงรูปธรรมและการเป็นต้นแบบของการลดขยะ
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะในแต่ละประเด็นมีภาคีเครือข่ายที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ค่อนข้างมาก ส่วนตัวมองว่าปีนี้น่าจะมีความคึกคัก เพราะแต่ละประเด็นถือเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจ โดยในระหว่างก่อนงานจะมีการหยิบยกเรื่องราวเนื้อหา (Content) ต่างๆ ออกมาสื่อสารให้เกิดการแลกเปลี่ยนในสังคม สร้างการรับรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้น เพราะในแต่ละประเด็นนั้นยังมีอีกหลายประเด็นย่อยอยู่จำนวนมาก จึงสามารถที่จะดึงออกมาสร้างกระแสการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การเดินหน้าตามเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มบรรยากาศ สีสัน ความมีชีวิตชีวาภายในงาน