สมุทรสาคร – สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร จับมือ สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร และ ซีพีเอฟ เปิดตัวนวัตกรรม “น้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ” ภายใต้แนวคิด “Waste, Not Wasted” ของเสียที่ไม่เสียของ หวังลดปริมาณปลาหมอคางดำในพื้นที่ ด้านชาวสวนฝรั่งยืนยันใช้แล้วเห็นผลจริง ลูกใหญ่ รสชาติดีขึ้น
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนประมงจังหวัดสมุทรสาครในการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บูรณาการกับ สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร และศูนย์การเรียนรู้ของเสียที่ไม่เสียของ ต่อยอดนำปลาหมอคางดำที่จับได้จากกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” มาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด และซีพีเอฟสนับสนุนถังพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับหมักปลาได้ 300 กิโลกรัมต่อถัง
นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” โดยนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง ซึ่งพัฒนาสูตรร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร และได้รับการสนับสนุนถังหมักขนาดใหญ่จากซีพีเอฟ ทำให้สามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศได้ถึงเดือนละ 6 ตัน หรือ 72 ตันต่อปี และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ปลากลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร สามารถนำไปใช้บำรุงดินแทนปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี โดยจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “WASTE, NOT WASTED” และถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตให้วิสาหกิจชุมชนนำไปต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้
ด้าน นายธนัชกฤต กลิ่นหวล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้เผยสูตรน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ ปลาหมอคางดำ 30 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม สับปะรด 10 กิโลกรัม และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 หมักทิ้งไว้ 1 เดือน ก็จะได้น้ำหมักเข้มข้น สามารถนำไปเจือจางเพื่อฉีดพ่นหรือรดบำรุงพืชและดินได้ จากการวิเคราะห์พบว่าน้ำหมักมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเกษตรกรที่นำไปใช้จริงสามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 8,000-10,000 บาทต่อไร่ต่อปี และยังช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
นายขวัญชัย อุทัยไป เกษตรกรผู้ปลูกฝรั่งในพื้นที่ กล่าวด้วยความพอใจว่า หลังจากได้นำน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำมาใช้ในสวน พบว่าดินที่เคยแข็งกระด้างกลับมาร่วนซุย น้ำไหลผ่านได้ดีขึ้น ที่สำคัญ ฝรั่งที่เคยมีขนาดเล็กก็มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังมีรสชาติหวานอร่อยขึ้นมาก ทำให้ผลผลิตโดยรวมดีขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ถึง 35%
ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า จากความพยายามในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้สามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 3 ล้านกิโลกรัม ส่งผลให้การแพร่ระบาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน นอกจากนี้ การนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ยังเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนอีกด้วย