กาญจนบุรี - อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เตือนรัฐบาลอย่าปล่อยผู้ลี้ภัยกว่า 80,000 คน อดตาย หลัง 2 องค์กรระหว่างประเทศเตรียมยุติความช่วยเหลือสิ้นเดือนนี้ แนะเปิดให้ทำงานถูกกฎหมาย หวั่นปัญหาความมั่นคงบานปลาย
วันนี้ ( 16 ก.ค.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนไทย–เมียนมา หลัง องค์กร The Border Consortium (TBC) และ International Rescue Committee (IRC) เตรียมยุติการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งเรื่องอาหารและการรักษาพยาบาล ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
นายสุรพงษ์ระบุว่า การที่องค์กรระหว่างประเทศยุติความช่วยเหลือ อาจทำให้ชาวผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่าย 9 แห่ง ต้องอดอยากถึงขั้น “พังค่ายหนี” ออกไปหางานทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะกลายเป็นภาระของสังคมและสร้างปัญหาความมั่นคง หากรัฐไม่เร่งจัดการอย่างเป็นระบบ
ขณะที่ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก เปิดเผยว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือโภชนาการ เพราะแม้แต่หญิงตั้งครรภ์ในค่ายยังได้รับเงินค่าอาหารเพียง 80 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 2 บาทเศษ เมื่อเงินสนับสนุนตัดขาด ผู้ลี้ภัยในค่ายจะอยู่ต่อไปอย่างไร
“มนุษย์ต้องกินอาหารเพื่ออยู่รอด ถ้าไม่มีข้าวกินก็ไม่ต่างจากการฆาตกรรมโดยเจตนา รัฐต้องรีบแก้ไข” นายสุรพงษ์กล่าว พร้อมเสนอแนวทางให้เปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าสู่ระบบแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายกว่า 80,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุและเด็กเป็นส่วนใหญ่ โดยกลุ่มวัยทำงานมีเพียงราว 30,000 คน หรือไม่ถึง 1% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดในประเทศไทย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยเคยเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยจากหลายประเทศ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ได้รับสิทธิพำนักและทำงานชั่วคราว โดยมีการจัดทำประวัติเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ม้ง มอแกน ไทยลื้อ ลาวอพยพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยกลุ่มที่ยังอยู่ในค่ายตามแนวชายแดน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและคาเรนนี ที่ยังไม่มีการจัดทำประวัติหรือให้นโยบายที่ชัดเจนในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน
ข้อเสนอของนายสุรพงษ์ คือให้รัฐบาลจัดตั้ง “กลุ่มผู้พลัดถิ่นจากเมียนมา” ตามอำนาจมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวและสามารถทำงานได้ภายใต้เงื่อนไขควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบจากที่คาราคาซังมากว่า 40 ปี
ด้าน นายถิรพัฒน์ เจตินัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ระบุว่า การอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบแรงงานสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายความมั่นคง โดยกระทรวงแรงงานพร้อมปฏิบัติตามแนวทางหากมีข้อสั่งการจากส่วนกลาง