อุบลราชธานี - เวทีเสวนาเทียบเคียงพัฒนาเมืองบูรณาการ จ.อุบลราชธานี ยกปัญหาน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจ-สังคมหนัก เสนอสร้างทางยกระดับเชื่อมฝั่งอำเภอเมืองกับฝั่งอำเภอวารินชำราบ พร้อมเส้นทางยกระดับสะพานถนนวงแหวนฝั่งตะวันตก มั่นใจแก้ปัญหาระหว่างเกิดน้ำท่วมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี จัดเสวนาการเทียบเคียงการพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการของจังหวัดอุบลราชธานีกับกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโอกาสเกิดของทางยกระดับเชื่อมอำเภอวารินชำราบกับอำเภอเมืองอุบลราชธานีที่ใช้สัญจรในช่วงเกิดน้ำท่วม ณ ห้องประชุมบุษยรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ปลายน้ำของ สองลำน้ำสำคัญในภาคอีสาน คือแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ไหลมาบรรจบกันที่อำเภอเมืองและวารินชำราบ ทำให้ฤดูน้ำหลากพื้นที่ของสองอำเภอต้องถูกน้ำท่วมไม่มากก็น้อย ตามปริมาณน้ำที่ไหลมาสมทบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีช่วงหน้าฝน ที่ผ่านมาทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปแต่ละปี
เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ส่งผลให้ถนนทางเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นเมืองคู่แฝดทางเศรษฐกิจหลักถูกตัดขาด การสัญจรต้องใช้เรือหรือรถยกสูง ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการค้าขายของคนในพื้นที่ กับคนต่างถิ่นเสียหายไม่น้อยกว่าครั้งละ 6-7 พันล้านบาท จึงเห็นควรมีทางยกระดับเชื่อมต่อทั้งสองอำเภอเพื่อใช้แก้ปัญหาช่วงเกิดน้ำท่วมเส้นทางสัญจร โดยทำทางยกระดับเชื่อมระหว่างถนนอุปราช ฝั่งอำเภอเมือง กับถนนสถิตย์นิมานกาล ฝั่งอำเภอวารินชำราบ ช่วงตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำมูลเสรีประชาธิปไตย ขนาด 2 ช่องจราจร เป็นระยะทางยาวประมาณ 2.2 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 450 ล้านบาท
อีกหนึ่งเส้นทางก็คือทางยกระดับเป็นสะพานที่ถนนวงแหวนฝั่งตะวันตก ถนนหมายเลข 231 ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางตั้งแต่สะพานข้ามลำน้ำมูลน้อยถึงสะพานข้ามแม่น้ำมูลบ้านคูเดื่อ อ.เมือง 5.5 กิโลเมตร มูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระหว่างเกิดน้ำท่วมเส้นทางสัญจรในแต่ละปีได้เป็นอย่างดี
นายมงคล จุลทัศน์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เสนอโครงการทางยกระดับ กล่าวว่า การนำเสนอโครงการสะพานยกระดับใช้แก้ปัญหาการจราจรช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2545 ปี 2554 ปี 2562 และปี 2565 คือการเดินทางของประชาชนเมืองอุบลราชธานีกับอำเภอวารินชำราบ เป็นเมืองใหญ่ทั้งสองเมือง มีประชาชนเดินทางไปมาจำนวนมาก ปี 2565 ที่น้ำท่วมและเส้นวงแหวนตะวันออกเพียงเส้นเดียวที่รถวิ่งได้ รถติดนาน 4-5 ชั่วโมง นอกจากประชาชนจะใช้เส้นทางนี้ ก็ยังมีผู้ป่วยจากฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัด เดินทางมาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ไม่ได้
ถ้าเลี่ยงเส้นทางก็ต้องไปทางอำเภอโขงเจียมแล้ววกกลับเข้าสู่ตัวเมืองต้องใช้ระยะทางถึง 250 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ส่วนพี่น้องที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางไปไม่ได้ เพราะถูกตัดขาด ทำให้หอการค้าเสนอโครงการสะพานยกระดับในช่วงเกิดวิกฤตน้ำท่วม เพราะจังหวัดจะถูกน้ำท่วมนานนับเดือน
นอกจากผู้ป่วยที่เดินทางมาไม่ได้ การขนส่งสินค้าก็ไม่สะดวก แต่ทุกคนต้องการสินค้าในการดำรงชีพ รถที่ใช้ขนส่งดินทรายที่นำมาใช้กั้นน้ำเข้าบ้าน ก็ทำให้ถนนพัง สะพานชำรุดเสียหาย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายปี 2562 และปี 2565 ปีหนึ่งประมาณ 6 พันล้านบาท ยังไม่รวมถึงพี่น้องประชาชนเดินทางมาทำงานไม่ได้ ต้องขาดรายได้ในครอบครัวอีก สะพานที่จะสร้างขึ้นมามีมูลค่าพันกว่าล้านบาทถือว่าคุ้มค่ามาก คาดหวังว่านอกจากภาคเอกชนที่เสนอโครงการขึ้นมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงภาคการเมืองจะช่วยกันผลักดัน เพราะลดความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงวิกฤตได้
ด้านนายวันปิยะ ภุมมะภูติ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 กล่าวถึงโครงการนี้ว่า การก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนขณะมีน้ำท่วมหนักของจังหวัด ระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอวารินชำราบ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งทางจังหวัดต้องทำหนังสือแจ้งความต้องการไปยังกรมทางหลวง ทางกรมก็จะพิจารณาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
เมื่อได้รับการพิจารณาจนผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว ก็จะจ้างที่ปรึกษาลงพื้นที่สำรวจ จะเป็นกระบวนการดำเนินการทีละขั้นทีละตอน โอกาสจะเกิดสะพานยกระดับจึงมีโอกาสเกิดได้ แต่อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะขณะนี้มีโครงการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในพื้นที่ของประเทศอยู่หลายโครงการ จะจัดลำดับความสำคัญ แต่ก็จะพยายามผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ในอนาคต
ขณะที่ ผศ.ดร.สุเชาวน์ มีหนองหว้า รองประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการจัดเสวนา ซึ่งได้จัดเป็นปีที่ 6 และจับปัญหาน้ำท่วม มีการถอดบทเรียนของจังหวัดอื่น ที่มีการพัฒนาและแก้ปัญหาในกลุ่มหอการค้าอีสานเหนือและอีสานใต้ ถึงการพัฒนาบ้านเมืองที่รุดหน้าไปมาก
เพื่อนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งเรื่องอุทกภัย หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างมูลค่าให้กับจังหวัด จะได้เท่าเทียมกับจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นจังหวัดรุ่นน้องพัฒนาช้ากว่า แต่ทุกวันนี้กำลังก้าวล้ำนำหน้าจังหวัดอุบลราชธานี จะได้นำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาใช้กับจังหวัดอุบลราชธานีในอนาคตต่อไป