ศูนย์ข่าวขอนแก่น - วงหมอลำชื่อดังทั่วอีสานกว่า 40 วงร่วมพิธีไหว้อ้อยอครู-คายอ้อ หมอลำประจำปี 2568 สุดยิ่งใหญ่ ด้าน “บอสโจ” เป็นปลื้มหลังรวมพลังหมอลำครั้งสำคัญของไทย ไหว้ครูสุดยิ่งใหญ่ครั้งแรกในภาคอีสาน พร้อมสืบสานประเพณีอีสานต่อเนื่องทุกปี
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือ มข. เป็นประธานประกอบพิธีไหว้อ้อยอครู-คายอ้อหมอลำ ซึ่งสำนักศิลปวัฒนธรรม มข. ร่วมกับชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน จ.ขอนแก่น และสมาคมหมอลำ จ.ขอนแก่น จัดกิจกรรมขึ้น โดยมีคณะหมอลำชื่อดังจากทั่วภาคอีสานรวมกว่า 40 วง
เช่น สาวน้อยเพชรบ้านแพง, ประถมบันเทิงศิลป์, ระเบียบวาทะศิลป์ รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ นักร้องนักแสดง หางเครื่องและผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการหมอลำในภาคอีสานร่วมประกอบพิธีอย่างเนืองแน่น ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนและแฟนหมอลำจากคณะต่างๆ เข้าร่วมประกอบพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ รองอธิการบดี มมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า พิธีไหว้อ้อยอครู-คายอ้อหมอลำ เป็นขนบที่สืบทอดกันมานาน เรียกได้ว่าเป็นการประกอบพิธีไหว้ครูตามความเชื่อ เพราะทุกคนล้วนมีครูบาอาจารย์และเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ต้องระลึกถึงและเคารพบูชา แต่ด้วยศาสตร์และความเชื่อของคนอีสาน มีผี-พราหมณ์ และพุทธนั้นอยู่คู่กัน พิธีไหว้อ้อยอครู-คายอ้อหมอลำ จึงเกิดขึ้นด้วยการผนึกพลังของคนวงการหมอลำ ถือเป็นการแสดงและการละเล่นพื้นบ้านของคนอีสาน มาร่วมแรงร่วมใจประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเป็นครั้งแรกของภาคอีสาน ที่ทุกคณะทุกวงมาร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณอันศักดิ์สิทธิ์นี้เกิดขึ้นที่ขอนแก่น
ขณะที่นายยมนิล นามวงษา หรือบอสโจ หัวหน้าวงหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง กล่าวว่า เป็นความปลาบปลื้มใจและความประทับใจของคนในวงการหมอลำที่ได้ร่วมกันประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้น ที่ผ่านมาทุกคณะและทุกวงล้วนต่างคนต่างทำ โดยเฉพาะการไหว้ครูก่อนทำการแสดงของแต่ละวง แต่วันนี้เป็นภาพใหญ่ที่ทุกวงและทุกคณะมารวมตัวกันไหว้ครูแบบธรรมเนียมอีสาน หรือที่เราเรียกว่าไหว้อ้อยอครู-คายอ้อหมอลำอีสานในครั้งนี้
“ปีนี้วงสาวน้อยเพชรบ้านแพงเป็นเจ้าภาพจัดพิธีไหว้อ้อยอครูอันศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้น รวมพลังวงหมอลำอีสานจากชมรมและสมาคมต่างๆ กว่า 40 วง ที่หัวหน้าวง หรือผู้แทน รวมทั้งนักแสดงและหางเครื่องมาร่วมประกอบพิธีนับร้อยชีวิต แสดงให้เห็นถึงพลังของคนอีสานที่จะคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมและประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ให้คงอยู่สืบไปและจะทำต่อเนื่องทุกปี เช่นเดียวกับศิลปินพื้นบ้านในภูมิภาคต่างๆ ที่ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ของแต่ละภูมิภาค
ดังนั้น ความศรัทธาในครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของคนในวงการหมอลำจะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่ขอนแก่น เพื่อประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่เช่นนี้ทุกปี เช่นเดียวกันกับภาพยนต์เรื่องคายอ้อ ที่สื่อถึงความเป็นลูกอีสาน ความเป็นวงการหมอลำที่เปรียบเสมือนซอฟต์พาวเวอร์อีกอย่างหนึ่งของไทยอีกด้วย”นายยมนิลกล่าว