บุรีรัมย์ - ประชาชน นทท.ไทยจากหลายจังหวัดต่างเดินทางไปเที่ยวชมและกราบไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดภูม่านฟ้า จ.บุรีรัมย์ เพิ่มขึ้นจากปกติ 2 เท่า หลังกัมพูชาขู่ฟ้องศาลโลกกล่าวหาสร้างเลียนแบบนครวัดและเรียกร้องยูเนสโกตรวจสอบ ด้านไวยาวัจกรยันไม่ได้เลียนแบบตามที่กล่าวหา เกิดจากภูมิปัญญา และแรงบันดาลใจจากโบราณสถานไทยหลายแห่งมาผสมผสาน มีการรายงานสำนักพุทธ วัฒนธรรม และจังหวัดทราบทุกขั้นตอนการก่อสร้าง
วันนี้ (13 ก.ค. 68) บรรยากาศที่วัดภูม่านฟ้า หรือ (วัดพระพุทธบาทศิลา) ตั้งอยู่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่กำลังเป็นกระแสถกเถียงกันในเวทีการประชุมองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เเนื่องจากทางการกัมพูชาได้กล่าวหาว่าไทยสร้างวัดภูม่านฟ้าเลียนแบบปราสาทนครวัดของกัมพูชาและเรียกร้องให้ยูเนสโกตรวจสอบ ก็ได้มีประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดเดินทางมาเที่ยวชมความงดงาม และกราบไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานภายในวัดภูม่านฟ้าอย่างไม่ขาดสาย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมช่วงนี้เพิ่มขึ้นจากปกติสองเท่าตัว ถึงแม้บางจุดจะยังไม่แล้วเสร็จและยังมีการเดินหน้าก่อสร้างต่อเนื่อง
โดยสิ่งก่อสร้างภายในวัดภูม่านฟ้าประกอบไปด้วย หลวงปู่หิน พระพุทธรูปศิลปะแบบอินเดียแกะสลักจากหินทราย เป็นจุดศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้มาเยือนมักกราบไหว้เป็นอันดับแรก ศาลาโบราณ อาคารจัดเก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุหลากหลาย เช่น เครื่องปั้นดินเผา แจกันโบราณ อุปกรณ์ทอผ้า รถยนต์โบราณ พระมหาเจดีย์ (ปราสาทสีหนคร) เจดีย์และปราสาทจำลองที่สร้างจากหินทราย แกะสลักด้วยมือ จัดเป็นแลนด์มาร์กของวัด ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุภายใน ปราสาทหินจำลอง (“เมืองสีหนคร”) โครงสร้างหินทรายซ้อนชั้น คล้ายโบราณสถานยุคขอมและอินเดีย แต่เป็นผลงานจินตนาการของผู้ก่อสร้าง เจตนาเพื่อสื่อถึงศรัทธา 5,000 ปี ภาพสลักนูนต่ำนูนสูง ประดับให้นักท่องเที่ยวเดินชมเป็นแนวตามทางเดินภายในวัด แสดงเรื่องราวศาสนาและสัญลักษณ์ทางศิลปกรรม ลานพระนอนพระพุทธรูปนอนหันพระเศียรไปยังด้านหนึ่ง ฐานล้อมด้วยรูปเทวดา ยักษ์ และมนุษย์ วิหารเล็ก (วิหารน้อย) ประดิษฐาน “หลวงพ่อหิน” และใช้เป็นที่ทำบุญและสวดมนต์ของพระสงฆ์ภายในวัด
วัดภูม่านฟ้ามีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ วัตถุประสงค์การก่อสร้าง เพื่อเป็นพุทธสถาน สร้างด้วยจิตศรัทธา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ศิลปกรรมไทย ใช้ภูมิปัญญาไทย และได้รับแรงบันดาลใจจากโบราณสถานไทย เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทพิมาย และอีกหลายแห่งในไทย
นายพีระวัฒน์ จันทสิทธิ์ ไวยาวัจกรวัดภูม่านฟ้า ยังคงยืนยันว่าการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ภายในวัดภูม่านฟ้าไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัดของกัมพูชา เป็นการใช้ภูมิปัญญาองค์ความรู้ที่มี โดยการใช้สถาปัตยกรรมที่มีอยู่หลายแห่งในประเทศไทย เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย และพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี เป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบในการสร้างสถาปัตยกรรมแห่งนี้ การสร้างปราสาทเพื่อเป็นพุทธสถานในพุทธศาสนาถวายพุทธองค์ จากจิตศรัทธาของทุกคนที่น้อมรำลึกสร้างในสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนคนไทย และชาวพุทธทั่วโลก และเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ศาสนา และของโลก
การก่อสร้างทุกขั้นตอน ได้แจ้งรายงานสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ วัฒนธรรมจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทางการของกัมพูชาเองก็เคยเดินทางมาดูด้วยตัวเอง ก็เห็นตรงกันว่าไม่ได้มีการจำลองหรือลอกเลียนแบบนครวัด
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระแสดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด เดินทางมาเที่ยวและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดภูม่านฟ้าอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 2 เท่า บางส่วนสร้างเสร็จแล้ว บางส่วนยังดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่อง ปัจจัยในการสร้างมาจากแรงศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชน
ด้าน นายสนัย ธรรมทวี อายุ 67 ปี ชาวอำเภอชำนิ กล่าวว่า ได้มาเที่ยวชมวัดภูม่านฟ้าหลายครั้ง รู้สึกประทับใจในความยิ่งใหญ่และความสวยงาม จากที่ได้มาเห็นกับตาการก่อสร้างก็ไม่ได้เหมือนปราสาทนครวัดตามที่กัมพูชากล่าวหา อยากให้ฝั่งกัมพูชาเลิกกล่าวหาและจบเรื่องนี้เสียที