ตราด – อธิบดีกรมศุลกากร ลงพื้นที่ชายแดนตราด รับฟังปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดด่านชายแดน พบมูลค่าการค้าช่วง 14 วันหายแล้วกว่าหมื่นล้านบาท ด้าน ปธ.หอฯ จี้รัฐเยียวยา-พิจารณาพื้นที่ปลอดภัยควรผ่อนปรนเปิดด่าน
วันนี้ ( 8 ก.ค.) นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ซึ่งปิดการเดินทางเข้าออกและห้ามนำสินค้าไปยังฝั่งกัมพูชา พร้อมตรวจร้านค้าในตลาดบ้านหาดเล็ก ที่พบว่ากว่า 90% ปิดบริการ รวมทั้งตรวจสอบบริเวณสันเขื่อนหาดเล็กซึ่งเป็นเขตรอยต่อทางน้ำ จุดซื้อขายสินค้าทางการประมง ที่ขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้าจากกัมพูชาแต่อย่างใด
โดย นายธีรัชย์ เผยว่าการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ตราด ในครั้งนี้เพื่อรับทราบปัญหาและนำผลสรุปที่ได้รับส่งไปให้ทางรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปิดด่านตลอดแนวชายแดน ซึ่งพบว่าในช่วง 14 วันที่ผ่านมามูลค่าการค้าชายแดนด้าน จ.ตราด เสียหายแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยมีมูลค่าการส่งออกไปกัมพูชา ประมาณเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ นางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด เผยถึงผลกระทบของภาคเอกชนต่อการปิดด่านชายแดน จ.ตราด ว่าหลังผ่านไปนาน 15 วันเริ่มเห็นชัดว่าส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชน และหากภาครัฐยังไม่ลงมาดูแลหรือเยียวยาให้ชัดเจน สุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ
“จากข้อมูลของด่านศุลกากร ระบุว่า ความเสียหายขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาทต่อวัน จากรถบรรทุกที่ไม่สามารถผ่านด่านไปกัมพูชาได้ แต่ในพื้นที่จริงยังมีผลกระทบต่อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้า รถเข็น ขายส้มตำ ข้าวปลา ต่าง ๆ อีกจำนวนมาก”
ประธานหอการค้าจังหวัดตราด ยังขอให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงช่วยเยียวยาใน 2 ประเด็น คือประการแรก สินค้าที่อยู่ในตู้ส่งออกไปกัมพูชาและได้รับการยกเว้นภาษี ที่ขณะนี้ส่งออกไม่ได้ สิ้นค้าบางส่วนกำลังจะหมดอายุ จึงอยากขอให้มีการนำกลับเข้ามาขายในประเทศไทย
ส่วนประการที่สอง สินค้าในเขต Free Zone ที่ต้องส่งออกภายใน 30 วันทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่แหลมฉบัง จ.ได้รับผลกระทบจากการแบกภาระค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์วันละ 2,000–4,000 บาท จึงขอให้มีขยายเวลาการพักสินค้าใน Free Zone ไปจนกว่าด่านจะเปิด
“ส่วนที่ฝ่ายความมั่นคงจะมองว่า ฝ่ายเอกชนมองแต่เรื่องปัญหาของตัวเองและไม่มองถึงเรื่องความมั่นคงของประเทศนั้น ประเด็นนี้ตอบยากเพราะเมื่อภาคเอกชนพูด มักถูกมองว่าเป็น “นายทุน” แต่ในความจริงคือ ประชาชนตามแนวชายแดน 7 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เราจึงเสนอว่าหากพื้นที่ใดไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ก็ควรผ่อนผันให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาได้ก่อน แล้วค่อยพิจารณาขั้นตอนอื่นๆต่อไป ”ประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าว