xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! วันนี้ยังพบเด็กน่านอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ “หลุด-ไม่เคยเรียน” กว่า 2,500 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - ไม่น่าเชื่อ..จนถึงวันนี้ยังพบเด็กน่านอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ทั้งหลุด-ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย รวมกว่า 2,500 ราย แถมล่าสุดคณะทำงานฯ ลงพื้นที่เดินหน้านโยบาย “Nan zero dropout นำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา” ยิ่งสะเทือนใจเจอเด็กหญิง 9 ขวบพ่อติดยา-ใช้ความรุนแรง ไม่ให้ลูกเรียน ขู่คนช่วยซ้ำ


นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายศิริโชค พิพัฒน์เสฐียรกุล ศึกษาธิการจังหวัดน่าน ได้ตั้งคณะทำงานทั้งภาคีภาคการศึกษาและเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสำรวจค้นหา “เด็กน่าน” ที่หล่นหาย กับภารกิจ “พาเด็กน่านกลับมาเรียน” ในโครงการ “Nan Zero Dropout” โดยเฉพาะในช่วงการศึกษาภาคบังคับ ป.1-ม.3 ตามนโยบาย Thailand Zero Dropout

ระยะแรกจากการสำรวจและค้นหาเด็ก โดยใช้ 7 กระบวนการตามระบบ Thailand zero dropout (TZD) มีตัวเลขของเด็กและเยาวชนในจังหวัดที่หลุดจากระบบการศึกษาถึง 2,510 ราย ที่จะต้องนำเข้าระบบ TZD สู่การขับเคลื่อนในระยะที่สอง ด้วย 4 มาตรการ คือ ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ และติดตามดูแลช่วยเหลือ

โดยทีมคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัดน่าน และภาคีภาคการศึกษา ทั้งสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่าน (สกร.) ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดน่าน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาน่าน และเครือข่ายสหวิชาชีพ ได้แก่ พม.น่าน สถานพินิจฯ น่าน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง อ.สองแคว อ.บ่อเกลือ อ.ปัว

นางสาวปาลิกา คำวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า เด็กที่ “หลุด” หรือ “ตกหล่น” จากระบบการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) เหล่านี้ไม่ใช่แค่ไม่เรียน แต่บางคนไม่เคยได้เรียนเลย สาเหตุซับซ้อนและซ้อนทับกัน ไม่ว่าจะเป็นความยากจนในครัวเรือน ความไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาในสายตาผู้ปกครอง ความพิการ หรือปัญหาสุขภาพของเด็ก สภาพภูมิประเทศที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะในฤดูฝน หรือแม้แต่ครอบครัวที่มีปัญหายาเสพติด และความรุนแรงจนไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่ของใครคนใดคนหนึ่ง ที่จะช่วยเหลือให้เด็กได้เรียนหนังสือ

หนึ่งในกรณีที่สะเทือนใจ คือ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ จากบ้านปางแก อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เด็กคนนี้ไม่เคยได้เข้าโรงเรียนเลยแม้บ้านจะอยู่ใกล้โรงเรียน เหตุผลเพียงเพราะพ่อติดยาเสพติดและใช้ความรุนแรงกับครอบครัว ไม่อนุญาตให้เรียน และยังข่มขู่ทุกคนที่พยายามเข้ามาช่วยเหลือ


“เด็กหญิงอาศัยอยู่ในบ้านที่พ่อของเธอเคยคลุ้มคลั่งเผาบ้านของตัวเอง จนชุมชนต้องให้แยกบ้านไปอยู่ไกลเพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันสภาพบ้านที่อยู่อาศัยไม่ได้มีความเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของเด็กที่ต้องนอนรวมกันทั้งบ้าน ห้องน้ำมีเพียงผ้ามากั้นบังปิดสายตาไม่มีประตูมิดชิดปลอดภัย ทั้งหมดคือความสุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤตของเด็กหญิง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการเลี้ยงดูเด็กหญิงที่กำลังเติบโต แต่เธอยังพยายามเรียนหนังสือ จากสามเณรพี่ชายที่ช่วยให้เธอได้ฝึกเขียนตัวหนังสือตามรอยประ และลายมือของเธอก็สวยจนหลายคนชื่นชม เธอมักรอคอยเพื่อนรุ่นพี่กลับมาจากโรงเรียนเพื่อขอของกินและเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เธอฟัง

“ล่าสุดคณะทำงานได้พบเจอตัวเธอและหาทางให้เธอได้เข้าสู่ระบบการเรียน สิ่งที่รับรู้ได้คือ “แววตา” และ “รอยยิ้ม” ของความหวัง ว่าเธอจะได้มีชื่อในบัญชีเด็กนักเรียนเหมือนคนอื่น”

เพราะเด็กแต่ละคนมีปัญหามีบริบทต่างกัน การจัดการศึกษาสูตรเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน บางราย โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพ หรือพิการต้องสอนถึงบ้าน โดยศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดน่าน บางรายต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่หลักสูตรไม่รู้หนังสือของ สกร. บางคนเคยเรียนแค่ ป.1 หรือ ป.6 แล้วก็หายไปจากระบบ บางคนไม่อยากเรียนเพราะพ่อแม่ก็ไม่รู้หนังสือ และไม่เคยปลูกฝังความสำคัญของการศึกษาให้ลูกเลย

ซึ่งคณะทำงานต้องใช้ทั้งวาทศิลป์หว่านล้อมและอ้างถึงพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะมาตรา 13 ที่ระบุว่าผู้ปกครองต้องส่งเด็กเข้าเรียน และมาตรา 15 ที่กำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการศึกษา


“พวกเราต้องช่วยกัน” คือถ้อยคำสำคัญที่สะท้อนจากคณะทำงานในพื้นที่ เพราะสิ่งที่กำลังทำ ไม่ใช่แค่การคืนเด็กสู่ห้องเรียน แต่คือการคืนอนาคต คืนศักดิ์ศรี และคืนโอกาสของชีวิต ให้กับเด็กคนหนึ่งที่อาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อชุมชนและสังคมในวันข้างหน้า การแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ไม่ใช่ภาระของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่คือ “หน้าที่ของสังคม” ที่ต้องยื่นมือช่วยเหลือ “ก่อนเด็กจะหล่นไปไกลกว่านี้” เด็กทุกคนควรมีสิทธิ์ในการฝัน และการเรียนรู้ อย่าปล่อยให้เด็กคนไหนต้องยืนมองรั้วโรงเรียนอยู่ห่างๆ ในขณะที่โลกทั้งใบหมุนเดินหน้าต่อไป โดยไม่มีพวกเขาอยู่ในวงจรนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น