ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ทีมวิจัย ม.ขอนแก่น เปิดตัว “ชิโนไทยมาร์ท” แพลตฟอร์มออนไลน์ใช้ค้าขายร่วมกันระหว่างนักธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเพื่อเปิดตลาดในจีน โดยต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทยและจีน พร้อมส่งต่อให้ ม.เชียงใหม่ ต่อยอดพัฒนาระบบบ่มเพาะและเร่งรัดกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อบุกตลาดประเทศจีนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุม The Brick X @NSP อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ“เปิดประตูจีน: เจาะลึกโอกาสการค้าข้ามพรมแดนไทย–จีน” เพื่อส่งมอบผลการดำเนินงานจากโครงการพัฒนานโยบายด้านการค้า การลงทุนรูปแบบใหม่เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการค้าและการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีน (ปีงบประมาณ 2567) โดยมี ดร.อรรฆพร ก๊กค้างพลู คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ สู่การสานต่อโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ โครงการการพัฒนาระบบการบ่มเพาะและเร่งรัดกลุ่มเศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรมระดับพื้นที่ (ปีงบประมาณ 2568) ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
โดยโครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนานโยบายการค้าการลงทุนรูปแบบใหม่ และยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทย–จีน โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ผ่านกลไก การบ่มเพาะทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ควบคู่กับเวิร์คชอปการเชื่อมโยงตลาดจีนในเชิงลึก โดยใช้พื้นที่จริงเป็น Sandbox ทางเศรษฐกิจ เพื่อทดสอบแนวทางการพัฒนาธุรกิจชุมชนและ SMEs ให้สามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน
การจัดเวิร์คช้อปครั้งนี้ประกอบด้วยการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการลงทุนในจีน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่รวมถึงเวิร์คชอป “เตรียมความพร้อมสู่ตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์มการค้า” โดยใช้ SinoThaiMart.com แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่งเปิดตัวและพัฒนาโดยทีมวิจัย เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดจีน ที่สำคัญโครงการยังเตรียมนำผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกไปแสดงสินค้าและขายจริงในงาน China-South Asia Expo ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19–24 มิถุนายน 2568
โดยความร่วมมือระหว่าง มข. และ มช. ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สะท้อนบทบาทของ งานวิจัยในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยบูรณาการระหว่าง สถาบันการศึกษา หน่วยงานสนับสนุน และภาคเอกชน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนาผู้ประกอบการและชุมชนอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโครงการดังกล่าว พร้อมสนับสนุนแนวทางการใช้ “งานวิจัยเชิงพื้นที่” เป็นกลไกในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของ บพท. ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่อย่างบูรณาการ และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทย–จีน
ด้านนางสาวเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัยคลัสเตอร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (บพท.)
ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดเวิร์คช้อปครั้งนี้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือจริงที่ทำให้การวิจัยไม่หยุดอยู่ตัวหนังสือบนกระดาษ แต่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้กับกลไกตลาดและผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นว่าการออกแบบโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ควรตอบโจทย์บริบทเฉพาะของพื้นที่อย่างแท้จริง และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถขยายตลาดได้จริง
ขณะที่ ดร.วรรณิภา คุดสีลา นักวิจัยประจำโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะนำผลการดำเนินงานและบทเรียนจากทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาต่อยอดผ่านกระบวนการบ่มเพาะกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมขยายผลด้วยเครื่องมือดิจิทัล เช่น SinoThaiMart.com และการผลักดันเข้าสู่ตลาดจริง เช่น งาน China-South Asia Expo โดยเป้าหมายหลักคือ การสร้างต้นแบบการพัฒนาธุรกิจชุมชนที่เติบโตบนฐานการวิจัย และเชื่อมโยงกับตลาดระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ.