กาฬสินธุ์ - กาฬสินธุ์ฝนตกมาราธอน 4 วัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเติมเขื่อนลำปาว 64 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้าน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวเผยต้องพร่องน้ำเตรียมรับปริมาณน้ำใหม่ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ และยังไม่ได้รับผลกระทบ พร้อมเตรียมประชุมเจเอ็มซีวางแผนบริหารจัดการน้ำ
จากภาวะฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียงติดต่อกันมากว่า 4 วัน ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจากการที่ฝนตกลงมาในพื้นที่ด้านเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเติมเพิ่มขึ้น
นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับปริมาณน้ำของเขื่อนลำปาวในช่วงสี่วันที่ผ่านมา เป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งว่าจะมีฝนตกชุกในเขตพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และใกล้เคียง โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนลำปาว ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเติมในอ่างเก็บน้ำลำปาวในช่วงสี่วันที่ผ่านมา 64 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 752 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 37.99 เปอร์เซ็นต์ จากความจุ 1,980 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2567 ที่มีปริมาณน้ำ 739 ล้าน ลบ.ม.หรือ 37.37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยยังสามารถรับน้ำได้อีกมากกว่า 1,227 ล้าน ลบ.ม.
นายสำรวยกล่าวต่อว่า ในส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ จากการที่มีการพยากรณ์อากาศในช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีปริมาณฝนมาก ที่ผ่านมาทางโครงการฯ จึงได้มีการพร่องน้ำไว้เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำใหม่ที่จะไหลเข้ามา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ และยังไม่มีผลกระทบจากทางด้านท้ายน้ำ ทั้งนี้ การระบายน้ำยังเป็นการช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายน้ำด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมไว้แล้ว เพื่อให้ปริมาณน้ำอยู่ในเส้นควบคุมและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย
นายสำรวยกล่าวอีกว่า ในช่วงนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซมคลองส่งน้ำ เพื่อที่จะให้พร้อมในการส่งน้ำในช่วงฤดูฝน ทางโครงการฯ ยังคงปิดการส่งน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำระบบชลประทานทั้งสองฝั่ง แต่ยังคงระบายน้ำลงลำน้ำปาวผ่านอาคารระบายน้ำ และระบายน้ำผ่านอาคารผันน้ำ หรือสปิลเวย์เฉลี่ยวันละ 5.18 ล้านลบ.ม.ไหลเข้าสู่แม่น้ำชี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายใน จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งหากรวมทั้งการช่วยเหลือด้านอุปโภค บริโภค ประปา อุตสาหกรรม และระเหยจะมีปริมาณน้ำออกจากอ่างเฉลี่ยทั้งหมดวันละ 5.77 ล้าน ลบ.ม.