เชียงใหม่ - อธิบดี ปภ.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ กำชับให้ทุกหน่วยเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พร้อมแจ้งเตือนข่าวสารที่ถูกต้องให้ประชาชนทราบป้องกันการตื่นตระหนก
วันนี้ (27 พ.ค. 68) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยมี นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
จังหวัดเชียงใหม่ได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในปีนี้ ว่าในพื้นที่เชียงใหม่มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะแม่น้ำปิง แม่น้ำกก และลำน้ำสาขา รวมไปถึงมีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย และน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือเหตุอุทกภัยล่วงหน้า โดยบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานเชิงรุกเน้นไปที่การขุดลอกแม่น้ำปิง การขุดลอกท่อระบายน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ทำให้น้ำมีที่ไป เป็นการลดความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมขังและน้ำท่วมรอการระบาย
ขณะที่หลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขุดลอกแม่น้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำปิงล้นตลิ่งที่ท่าน้ำหน้าสำนักงานแขวงนครพิงค์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังติดตั้งเครื่องจักรกล และเคลียร์พื้นที่สำหรับเตรียมเริ่มขุดลอกอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 75 วัน เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ช่วงฝนตกชุกในเดือนกันยายน จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังชุมชนศรีปิงเมือง และชุมชนช่างเคี่ยน โดยบริเวณจุดดังกล่าวได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำสูบส่งระยะไกล ที่มีอัตราการส่ง 31,500 ลิตรต่อนาที ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง มาประจำการไว้เพื่อใช้สูบน้ำออกจากพื้นที่ทันทีหากเกิดฝนตกต่อเนื่องจนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
ทั้งนี้ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอให้ทุกฝ่ายติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเครื่องจักรกลสาธารณภัยของจังหวัดไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน หรือต้องการวัสดุอุปกรณ์อื่นใดเพิ่มเติม ขอให้ประสานมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ทันที นอกจากนี้ ขอให้ทุกส่วนราชการในจังหวัดมีความตื่นตัวต่อสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นเมื่อไหร่จะต้องมีการเปิดศูนย์บัญชาการ หรือตั้ง War room ขึ้นทันที พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ของหน่วย ปภ.ทุกพื้นที่พร้อมปฏิบัติงาน เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ความสำคัญต่อการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องถึงสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันข่าวลวงข่าวปลอม (Fake news) ไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความตื่นตระหนก