xs
xsm
sm
md
lg

พบ “มอธหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก” ผีเสื้อกลางคืนสุดหายากใกล้สูญพันธุ์ บนพะเนินทุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชวนชม ‘มอธหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก’ ผีเสื้อกลางคืนสุดหายากใกล้สูญพันธุ์ บนพะเนินทุ่ง เป็นแมลงคุ้มครอง ใกล้สูญพันธุ์

วันนี้( 22 พ.ค.) นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยภาพสุดสวยงามของ ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก หรือ Malaysian moon moth ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Saturniidae เป็นแมลงที่มีเขตกระจายตัวค่อนข้างกว้างในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย จีน เมียนมา ไทย ตะวันตกของมาเลเซีย หมู่เกาะซุนดา และ อินโดนีเซีย สำหรับตัวที่พบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้ ได้พบและถ่ายภาพไว้ได้โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯแก่งกระจาน ประจำจุดพะเนินทุ่ง

ทั้งนี้ มอธหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก หรือ ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก จัดเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวใหญ่หางยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นแมลงคุ้มครอง มีลำตัวใหญ่ ปีกสีเหลือง เหลืองอมฟ้า เหลือง-ขาว และปลายปีกล่างมีลักษณะเป็นหางยาวลงมา ประมาณ 20 เซนติเมตร อยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนไหมป่า (Saturniidae) ในประเทศไทยพบ 4 ชนิด ได้แก่ ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายหยัก ซึ่งพบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยลักษณะที่มีความสวยงาม และหายาก จึงมักถูกจับ ไล่ล่าจากมนุษย์เพื่อการค้า และการสะสม จนสถานะขณะนี้จัดว่าใกล้สูญพันธุ์

นอกจากผีเสื้อกลางคืนหรือมอธแล้ว ในเวลากลางวัน อุทยานฯแก่งกระจาน ก็ยังมีผีเสื้อออกมาให้นักท่องเที่ยวชมอีกจำนวนมาก ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ บริเวณ กม.4 (บ้านกร่าง) ฝูงผีเสื้อจำนวนมากยังพากันออกมาโบยบินอวดโฉม ซึ่งที่นี่เป็นจุดศูนย์รวมของผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์ กว่า 250 ชนิด และบริเวณถนนจากบ้านกร่างขึ้นไปพะเนินทุ่ง บริเวณตั้งแต่ กม.16-18 ที่พบออกมาหากินบริเวณริมถนนจำนวนมาก แต่ละชนิดต่างสยายปีกโชว์สีสัน ความสวยงาม และเกาะกินโป่ง อยู่แถวบริเวณลำธาร โดยสามารถมาชมความสวยงามได้ทุกวัน โดยเวลาชมผีเสื้อกลางวันที่ดีที่สุด คือ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป




กำลังโหลดความคิดเห็น