xs
xsm
sm
md
lg

ลวกจิ้มต้องเลิกทันที! พบปลาน้ำโขงมีทั้งตุ่มแดง-พุพองชัด หลังเหมืองทอง/แรร์เอิร์ทโผล่ต้นน้ำกก-น้ำสาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย/สามเหลี่ยมทองคำ - พบปลาน้ำโขงกระทบชัด มีทั้งตุ่มแดง-พุพอง..หลังเหมืองทองโผล่ รวมถึงอาจมีการทำเหมืองแรร์เอิร์ทในพื้นที่ต้นน้ำเขตว้าแดง จนเกิดปัญหาสารหนู-โลหะหนักปนเปื้อนน้ำกก-น้ำสาย ก่อนไหลลงโขง ประมงยันบริโภคได้ต้องให้สุกก่อน


ครูตี๋ หรืออาจารย์นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ออกเก็บตัวอย่างปลาในแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งพบว่าปลาแข้ ซึ่งเป็นปลาหนังมีครีบที่จับได้จะมีอาการติดเชื้อ มีตุ่มพุพองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งครูตี๋ระบุว่าในอดีตไม่เคยเห็นปลามีอาการแบบนี้มาก่อน เพิ่งมาพบตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ขุ่นมากขึ้น รวมทั้งมีโรงงานเหมืองทองคำและอาจจะมีแรร์เอิร์ทอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ จากนั้นก็พบสารหนูในทั้งสแม่น้ำ มีค่าเกินมาตรฐานก่อนจะพบปลาในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงมีตุ่มพุพอง

นายนิวัฒน์เปิดเผยว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ที่ได้เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 1-2 พ.ค. 2568 ระบุว่ามีสารหนูเกินมาตรฐานบริเวณจุดก่อนแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขงและบริเวณสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ส่วนแม่น้ำสายก็มีค่าสารหนูและโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน และน้ำแม่กรณ์ แม่ลาว แม่สรวย (น้ำสาขาแม่น้ำกก) คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

จากข้อมูลของหน่วยงานรัฐได้แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง มีปัญหาจากสารพิษและการปนเปื้อนโลหะหนักจริง ส่วนแม่น้ำสาขาไม่เป็นปัญหา ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบเร่งผลักดันให้เกิดการตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณพื้นที่ต้นน้ำข้ามพรมแดน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงที่จะสามารถยืนยันถึงต้นตอของปัญหา และเกิดแนวทางการแก้ไขกับประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป


ด้านนายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า กรณีพบปลามีลักษณะผิดปกติพบทั้งในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขงตรงปากแม่น้ำคำ มีลักษณะใกล้เคียงกันคือปลาจะมีตุ่มแดงบริเวณครีบ หาง และหนวด จึงได้นำตัวอย่างปลาไปยังกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง เพื่อตรวจหาด้านปรสิตวิทยา แบคทีเรียวิทยา ไวรัสวิทยา และพยาธิวิทยา จำนวน 3 ครั้ง

ซึ่งผลออกมาแล้ว 1 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา พบปรสิตกลุ่มไดจีนและมีแบคทีเรียเข้ามาซ้ำเติมที่ตุ่มดังกล่าว ส่วนด้านไวรัสวิทยาและพยาธิวิทยาไม่พบ ด้านผลการวิเคราะห์ทางเคมีพบสารปรอทอยู่ภายในตัวปลา 0.14 ไมโครกรัมต่อ กก.ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไม่ให้เกิน 0.15 ไมโครกรัมต่อ กก. ไม่เจอแคดเมียม ขณะที่ตะกั่วมีอยู่เพียง 0.05 ไมโครกรัมต่อ กก. ส่วนการตรวจครั้งที่ 3 เพิ่งมีการเก็บตัวอย่างไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค.และวันที่ 16 พ.ค. ต้องรอผลซึ่งคาดว่าจะออกมาในวันที่ 28 พ.ค.นี้

นายณัฐรัฐกล่าวว่า สาเหตุที่พบตุ่มและแผลพุพองในปลาเกิดจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง น้ำมีความขุ่น ทำให้สัตว์เลี้ยงวัยอ่อนได้รับผลกระทบด้านการสังเคราะห์แสง เพราะลูกปลาต้องอาศัยแพลงก์ตอนพืชที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงในการมีชีวิตอยู่

หากยังไม่สามารถทำให้น้ำที่ขุ่นกลับมาใสอีกได้ก็จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในระยะยาว ดูได้จากปัจจุบันที่มีปลาลดน้อยลงเพราะไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปปลาจะอพยพไปอยู่ในที่ที่มีน้ำใสต่อไป ส่วนการบริโภคปลาที่จับได้โดยมองจากการตรวจหาปรสิตและแบคทีเรียนั้นพบว่ายังสามารถใช้ความร้อนทำให้สุกก่อนบริโภคได้เท่านั้น ประเภทลวกจิ้มต้องเลิกทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น