ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวเน็ตแห่ชื่นชม 3 นักเรียนโคราชปั๊มหัวใจเพื่อนหลังหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกลับมามีลมหายใจอีกครั้งก่อนกู้ภัยและ จนท.พยาบาลเข้าช่วยเหลือนำตัวส่ง รพ.ด่วน ทำให้สามารถช่วยชีวิตได้ทันท่วงที เจ้าตัวเผยภูมิใจมากที่ได้ใช้ความรู้ที่อบรมมาช่วยชีวิตคนในครั้งนี้
วันนี้ (20 พ.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Sirawich Intharathat” ได้โพสต์ภาพเด็กนักเรียนโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา กำลังทำ CPR ด้วยการปั๊มหัวใจเด็กนักเรียนในโรงเรียนหลังจากที่มีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
พร้อมข้อความระบุว่า “วันที่ 19 พ.ค. 68 เวลา 09.20 น. เวลาโดยประมาณ รับแจ้งจากอาสาไปรท์ ที่เป็นอาสาสมัครฮุก 31 จุดไชยมงคล และอาสาปุณ, อาสากล้า ว่าที่โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์มีนักเรียนหมดสติไม่หายใจที่ห้องพยาบาล น้องกำลังทำการ CPR และให้อาจารย์แจ้ง 1669 ผมจึงได้นำ "AED100" เข้าไปสนับสนุนที่เกิดเหตุพร้อมกับรถ รพ.ค่ายสุรนารี ต้องขอขอบคุณอาสาทั้ง 3 นาย และคณะแพทย์ รพ.ค่ายสุรนารี รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารีครับ น้องที่ประสบเหตุอยู่เพียงแค่ชั้น ม.3 และน้องอาสาอายุเพียงแค่ 14-15ปีเท่านั้น สื่อนี้ลงเพียงเพื่อสื่อให้เห็นความสำคัญของการ CPR และการมีเครื่อง AED ในพื้นที่ต่างๆ เพียงเท่านั้นครับ” ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปมีชาวเน็ตเข้ามาชื่นชมเด็กนักเรียนในภาพดังกล่าวกันอย่างมากมาย
ล่าสุดวันนี้ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้พบกับเด็กนักเรียนคนดังกล่าวในภาพ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่นักเรียนเพียงคนเดียวที่ทำ CPR ยังมีเด็กนักเรียนอีก 2 คนที่ได้ผลัดกันปั๊มหัวใจพร้อมกับอาจารย์ประจำห้องพยาบาล
โดยเด็กนักเรียนทั้ง 3 คนที่เข้าช่วยเหลือในครั้งนี้ได้แก่ นายกิตติภพ ค่ายใส ชั้น ม.4/8 นายรัฐภูมิ ขจรสาธิต ชั้น ม.6/8 และ นายจิรภัทร ศรีสว่าง ชั้น ม.3/9 ซึ่งน้องนักเรียนทั้ง 3 คนดังกล่าวนั้นมีประสบการณ์ในการทำ CPR เนื่องจากทั้ง 3 คนเป็นอาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิพุทธธรรมการกุศล (ฮุก 31) นครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยกู้ภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอยู่แล้ว โดยนายกิตติภพ และนายจิรภัทรนั้นเป็นอาสากู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา จุดบริการไชยมงคล ส่วนนายรัฐภูมิเป็นอาสากู้ภัยฮุก 31 จุดโพธิ์กลาง ซึ่งทั้ง 3 คนมีประสบการณ์ในการอบรมการทำ CPR จากมูลนิธิและทางโรงเรียนอยู่แล้ว
นายจิรภัทรเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ในวันเกิดเหตุตนได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์กับอาจารย์ที่ปรึกษาของนักเรียนที่หมดสติ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้วทางครูได้มาตามอาจารย์ที่ปรึกษาให้ไปดู ตนก็ได้วิ่งตามไปด้วย พอดีเห็นครูประจำห้องพยาบาลกำลังปั๊มหัวใจให้กับนักเรียนที่หมดสติอยู่ตนจึงได้เข้าไปช่วย ซึ่งอาการของน้องคนที่หมดสตินั้นตอนที่ไปถึงนอนแน่นิ่งไปแล้ว ตัวเริ่มเย็น ทางครูประจำห้องพยาบาลจึงได้ให้ตนไปนำถังออกซิเจนที่อยู่ในห้องมาคอยให้ออกซิเจนกับน้องที่หมดสติ
ในระหว่างนั้นได้มีการโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยในพื้นที่และแจ้งโรงพยาบาลให้มาช่วยเหลือ โดยตนกับเพื่อนๆ และอาจารย์ประจำห้องพยาบาลก็พยายามช่วยกันปั๊มหัวใจน้องอยู่ตลอดเวลาโดยสลับกันปั๊มวนกันไปจนเจ้าหน้าที่มาถึงและรับตัวน้องไปรักษาที่โรงพยาลบาล ก่อนที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาลน้องก็กลับมามีลมหายใจแล้ว ทำให้ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้ใช้ความรู้ที่อบรมมาช่วยชีวิตคนในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน นายสราวุฒิ แช่มเมืองปัก ผอ.โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุเป็นช่วงก่อนเริ่มทำการเรียนการสอน เด็กนักเรียนที่หมดสติเข้าห้องเรียนตามปกติ สักครู่เด็กนักเรียนคนดังกล่าวตัวค่อยๆ ไหลลงจากเก้าอี้ก่อนที่จะหมดสติและหยุดหายใจ อาจารย์ที่ปรึกษากับเด็กกลุ่มที่เป็นอาสากู้ภัยก็ได้รีบเข้าไปช่วยทำ CPR พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้เข้ามารับตัว อย่างไรก็ตาม ในฐานะ ผอ. ขอชื่นชมเด็กๆ กลุ่มนี้ที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กคนที่หมดสติ ซึ่งถือว่าโชคดีที่เด็กๆ กลุ่มนี้เคยผ่านการอบรมจากโรงเรียนและมีประสบการณ์จากการเป็นอาสากู้ภัย
ทางด้าน นายจตุรงค์ อินทรทัต หัวหน้าจุดบริการไชยมงคล มูลนิธิพุทธธรรมการกุศล (ฮุก 31) นครราชสีมา กล่าวว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่ช่วยกันทำ CPR เป็นเด็กที่อยู่ในชุมชนใกล้กับจุดบริการอยู่แล้ว และมีความสนใจที่จะใช้เวลาว่างมาทำอาสากู้ภัย โดยเด็กกลุ่มนี้ผ่านการฝึกอบรมจากทางมูลนิธิฯ มาแล้วพร้อมกับเป็นผู้ช่วยเวลาเดินทางไปเป็นวิทยากรในการสอนทำ CPR ตามหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือมาแล้วพอเกิดเหตุขึ้นจึงมีโอกาสใช้ความรู้ที่ได้อบรมมาในสถานการณ์จริง
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องมีโรคประจำตัว อย่างน้องที่หมดสติไปก็ไม่มีโรคประจำตัวแต่ก็ยังเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขึ้นได้ ซึ่งตนในฐานะกู้ภัยและเป็นวิทยากรในการอบรมการทำ CPR อยากให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อการให้คนในองค์กรมีความรู้เรื่องการกู้ชีพเบื้องต้นหรือการทำ CPR และอยากให้สนับสนุนเครื่อง AED หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจเอาไว้อย่างน้อย 1 เครื่องในหน่วยงานก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที