xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ! จนถึงพฤษภาฯ น้ำกก-น้ำสาย-น้ำโขง ยังปนเปื้อนสารหนู แถมพบ “ตะกั่ว” ซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่/เชียงราย - จนถึงต้นเดือนพฤษภาฯ ยังพบสารหนูปนเปื้อนตะกอนแหล่งน้ำผิวดินทั้งน้ำสาย-น้ำกก ยันน้ำโขง แถมตรวจเจอตะกั่วเพิ่มซ้ำ ภาคประชาชนจ่อชุมนุม 5 มิถุนาฯ จี้พม่า-จีน-ไทย-ว้าแดงเร่งแก้ปัญหา


ปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำกกปนเปื้อนโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนู ซึ่งตรวจพบครั้งแรกตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2568 กระทั่งมีข้อสั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) กรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบคุณภาพน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกก รวมถึงลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำกกและแม่น้ำสายอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุดผลการตรวจสอบคุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดินในแม่น้ำกกตั้งแต่ จ.เชียงใหม่-เชียงราย และลำน้ำสาขาคือแม่น้ำลาว แม่น้ำกรณ์ แม่น้ำสรวย รวมไปถึงแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 21‐24 เม.ย.และวันที่ 1-2 พ.ค.2568 จำนวน 17 จุด พบค่าสารหนูเกินมาตรฐาน 4 จุด

ได้แก่ บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ 1 ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย มีค่าเท่ากับ 46 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, บ้านจะเด้อ หมู่ 6 ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย มีค่าเท่ากับ 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, บ้านผาใต้ หมู่ 13 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีค่าเท่ากับ 43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และชายแดนไทย-พม่า หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม หมู่ 14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย มีค่าเท่ากับ 42 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่จุดอื่นๆ เช่น ปลายน้ำที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ฯลฯ ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือไม่เกิน 33 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักแห้ง)

นอกจากนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ยังได้เก็บตัวอย่างน้ำผิวดินในแม่น้ำกกและลำน้ำสาขาดังกล่าวรวมไปถึงแม่น้ำโขงระหว่างวันที่ 1-2 พ.ค. จำนวน 8 จุด ได้แก่ ลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำกก 3 จุด คือ แม่น้ำลาว 1 จุด แม่น้ำกรณ์ 1 จุด และแม่น้ำสรวย 1 จุด, แม่น้ำโขง 2 จุด คือ บริเวณก่อนที่แม่น้ำกกจะไหลลงบรรจบแม่น้ำโขงที่ ต.เวียง อ.เชียงแสน และจุดที่แม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขงผ่านบริเวณสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน รวมทั้งได้ตรวจน้ำในแม่น้ำสาย 3 จุด คือ ชายแดนไทย-เมียนมา ด้านชุมชนหัวฝาย ต.แม่สาย, สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 และบ้านป่าซางงาม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย

ผลปรากฏว่าแม่น้ำโขงทั้งที่ ต.เวียง และ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน มีค่าสารหนูอยู่ที่ 0.031 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 0.036 มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ ขณะที่ค่ามาตรฐานคือไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมตอลิตร ส่วนแม่น้ำสายพบสารตะกั่ว (Pb) และสารหนู (As) เกินค่ามาตรฐานทุกจุด โดยค่าตะกั่วที่ชุมชนหัวฝายมีค่าเท่ากับ 0.066 มิลลิกรัมต่อลิตร สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 มีค่าเท่ากับ 0.063 มิลลิกรัมต่อลิตร และที่บ้านป่าซางงามมีค่าเท่ากับ 0.058 มิลลิกรัมต่อลิตร

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ตามปกติจะพบตะกั่วในแหล่งน้ำปริมาณน้อย แต่คาดว่าสาเหตุอาจมาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน เหมืองแร่ และน้ำฝนที่ชะล้างตะกั่ว

ส่วนสารหนูยังคงพบในปริมาณมากเช่นเดิม คือ ชุมชนหัวฝาย มีค่าเท่ากับ 0.049 มิลลิกรัมต่อลิตร, สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 มีค่าเท่ากับ 0.045 มิลลิกรัมต่อลิตร และที่บ้านป่าซางงาม มีค่าเท่ากับ 0.044 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนจุดอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์ได้มาตรฐาน

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังพบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ทำให้ภาคประชาชนและนักวิชาการรวมถึงองค์กรเอกชนมีกำหนดจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รัฐบาลจีน และรัฐบาลเมียนมา รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยว้าแดงในเขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ซึ่งปกครองสถานที่ตั้งเหมืองแร่ทองคำหลายแห่งและคาดว่าจะมีแรร์เอิร์ท (แร่หายาก) ติดแม่น้ำกกอีกอย่างน้อย 2 แห่ง ได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของคนท้ายน้ำและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคาดว่าจะจัดกิจกรรมบริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.เชียงราย วันที่ 5 มิถุนายนที่จะถึงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น