xs
xsm
sm
md
lg

อ่างทองเร่งขับเคลื่อน GI “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” ลุยตรวจ 19 แปลงผลิต หวังดันสู่ตลาดระดับชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ่างทอง - พาณิชย์ ร่วม กษ.อ่างทอง ลงพื้นที่ตรวจประเมิน “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” เตรียมขึ้นทะเบียน GI สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร

วันนี้(19 พ.ค.) ที่ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง นางสาวสิการย์ เฟื่องฟุ้ง พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยนางวินดา เหลี่ยมสมบัติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง นำคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ลงพื้นที่ตรวจประเมินคำขอใช้สิทธิ์ขึ้นทะเบียน “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

โดยการตรวจครั้งนี้มีผู้ยื่นคำขอรับรองการใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 19 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิก ผู้ผลิต และกระบวนการควบคุมคุณภาพทั้งระบบการผลิตและการจำหน่าย ตลอดจนตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนออกใบอนุญาตใช้เครื่องหมาย GI อย่างเป็นทางการ โดยจะดำเนินการต่อเนื่องในวันที่ 19–20 พฤษภาคม 2568

สำหรับ “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” ถือเป็นผลไม้พื้นถิ่นที่มีคุณภาพโดดเด่น ได้รับการสืบสานและพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างยาวนาน โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินปลูกต้นกระท้อนพันธุ์ทองใบใหญ่ ณ วัดยางทอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความภาคภูมิใจของชุมชน

ลักษณะเด่นของกระท้อนทองใบใหญ่คือ ผลกลม เปลือกบาง ขั้วผลนูน ผิวไม่เรียบ สีเหลืองทองเมื่อสุก เนื้อหนา ฉ่ำ หวาน กลิ่นหอม เมล็ดมีปุยละเอียด ขยายพื้นที่ปลูกในอำเภอโพธิ์ทอง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบตะกอนน้ำพา ดินมีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก ส่งผลให้กระท้อนมีรสชาติดี เจริญเติบโตได้สมบูรณ์

ทั้งนี้ จากการรวมพลังของเกษตรกรในชุมชน ร่วมอนุรักษ์พันธุ์กระท้อน และใช้เทคนิคการปลูกแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ได้รับรางวัลรสชาติดีอันดับ 1 ของจังหวัดอ่างทอง และสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 6 ล้านบาทต่อปี พร้อมมีการจัดงาน “มหกรรมกระท้อนทองใบใหญ่ทรงปลูก” เพื่อส่งเสริมการตลาดต่อเนื่องทุกปี

พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งเป็นการคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า พร้อมผลักดันให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือ Soft Power ตามนโยบายรัฐบาล








กำลังโหลดความคิดเห็น