สมุทรสงคราม- มาตรการปิดอ่าวฤดูวางไข่ปลาทูนานถึง 3 เดือนไม่ได้ผล หลังเปิดอ่าวกลับไม่พบปลาทูให้จับ ประธานสมาคมประมงฯ ชี้ชัด “อวนจม ” คือตัวการใหญ่ ขอกรมประมงแยกเครื่องมือให้ชัด ก่อนจะสายเกินไป
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยถึงสถานการณ์หลังกรมประมงประกาศ “ปิดอ่าวฤดูวางไข่ปลาทู” ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2568 เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทยตอนกลาง แต่เมื่อสิ้นสุดช่วงปิดอ่าว กลับพบว่า “ไม่มีปลาทู” ให้ชาวประมงจับได้
นายมงคล กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการปิดอ่าวเพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทู แต่ในทางปฏิบัติ กลับยังอนุญาตให้ใช้ เครื่องมืออวนติดตาประเภท “อวนจม ที่ใช้จับปลาทู” เข้าทำประมงได้ ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถจับพ่อแม่ปลาทูก่อนที่จะวางไข่ จึงกลายเป็นการทำลายวงจรชีวิตปลาทูโดยตรง
“เมื่อเปิดอ่าววันแรก เรือประมงส่วนใหญ่จับได้แต่ปลาแป้น ปลาทูแทบไม่มีเลย ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่พ่อแม่ปลาทูถูกจับไปหมดก่อนที่จะวางไข่ ทำให้ไม่มีลูกปลาทูเกิดใหม่มาชดเชย” นายมงคล กล่าว
หากกรมประมงต้องการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ควร แยกประเภทอวนลอยปลาทูออกจากอวนจมปลาทู อย่างชัดเจน และ ห้ามใช้อวนจมปลาทูในช่วงฤดูวางไข่ โดยเฉพาะ เพราะอวนลอยจะจับได้เฉพาะปลาทูที่วางไข่แล้ว ซึ่งไม่กระทบกับระบบนิเวศมากนัก
ที่ผ่านมา สมาคมการประมงฯ พยายามรณรงค์ให้ยุติการจับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูในฤดูวางไข่มานานกว่า 10 ปี แต่ยังไม่มีการปรับปรุงประกาศอย่างจริงจัง ทำให้ทรัพยากรปลาทูลดลงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิกฤตในปัจจุบัน หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและประกาศกรมประมง ปลาทู ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญของไทย อาจถึงจุด “สูญพันธุ์จากทะเลไทย” ในอนาคต