กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ลุกค้านเสียงแข็ง หลัง กมธ.วุฒิสภา เสนอแนวคิดนำแร่ตะกั่วออกจากใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชี้ไม่มีข้อเท็จจริง-ไม่มีแร่เหลือ พร้อมทวงถามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ยังเต็มไปด้วยสารพิษ
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา แสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ที่มีแนวคิดจะนำแร่ตะกั่วของกลางในพื้นที่เหมืองแร่ปรองดี้ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ออกมาจากพื้นที่ โดยชี้ว่าเป็นการ “ปลุกผีเหมือง” ขึ้นมาโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ
นายสุรพงษ์ เผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในการหาแนวทางจัดการแร่ตะกั่วกลางป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี จากเหมืองปรองดี้ ซึ่งอ้างว่ามีเหลืออยู่ 3,510 ตัน หากปล่อยไว้จะมีการขนไปประเทศเพื่อนบ้านและมีอันตรายจากการรั่วไหล
เหมืองแร่บริเวณโดยรอบเขตฯทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตกเหมือนผีที่ลงโลงไปแล้ว จากกรณีพบการปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ธรรมชาติกรณีเหมืองแร่เถื่อนปรองดี้ เหมืองคลิตี้และเหมืองเค็มโก้ ได้ถูกสั่งยุติกิจกรรมตั้งแต่ปี 2545 ตามมติคณะรัฐมนตรี 4 กระทรวง และไม่มีแร่เหลืออยู่จริง แร่ของกลางที่เคยมีได้ถูกประมูลออกไปตั้งแต่ช่วงปี 2541-2545 โดยกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเดิมที่มีบทบาทในเหมืองเถื่อนแถบนี้ และถูกขนออกไปมากเกินจำนวนของกลางจนเกิดข้อกังขาในสังคมช่วงเวลานั้น
“การจะอ้างว่าจะมีการลักลอบขนแร่ไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือเกิดอันตรายจากการรั่วไหล ทั้งที่พื้นที่อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด และไม่มีหลักฐานแร่หลงเหลือ เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อจะกลับมาเปิดทางทำเหมืองอีกครั้ง” นายสุรพงษ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงฯ ยังชี้อีกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงซึ่งควรได้รับความใส่ใจจากรัฐ คือกรณีลำห้วยคลิตี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในอดีตจนชาวบ้านล้มป่วยและลำน้ำเสียหาย ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษและผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบฟื้นฟูลำห้วยให้กลับสภาพเดิม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ยังมีการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งรับน้ำเสียจากลำห้วยคลิตี้ ลงคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งธนบุรี และปล่อยลงสู่อ่าวไทยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของคนทั้งประเทศ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ เปลี่ยนจุดสนใจจากการนำแร่ออกป่ามาเป็นการเร่งรัดการฟื้นฟูและจัดการกับมลพิษที่ยังคาราคาซังแทน
นอกจากนี้นายสุรพงษ์ ยังย้ำถึงประวัติศาสตร์การทำเหมืองเถื่อนในพื้นที่ว่ามีความเกี่ยวพันซับซ้อนระหว่างกลุ่มทุน และเจ้าหน้าที่รัฐ การปล่อยให้กลุ่มเดิมกลับมามีบทบาทอีกครั้งเท่ากับเปิดทางทำลายป่ามรดกโลกซ้ำสอง เราควรปกป้องป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่เปิดช่องให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในชื่อของการจัดการแร่ที่ไม่มีอยู่จริง