เชียงใหม่/เชียงราย - ชี้ชัดจีน-เมียนมา เกี่ยวข้องเหมืองทอง-แมงกานิส และแรร์เอิร์ธ พื้นที่ต้นน้ำเขตอิทธิพลว้าแดงตอนใต้ ทำน้ำกก-น้ำสาย ปนเปื้อน นักวิชาการเผยเป็นปัญหาข้ามชาติ-วิกฤตข้ามหน่วยงาน จี้รัฐไทยตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาด่วน เผยตั้งแต่เกิดขึ้นมีประชุมแค่หนเดียวจนปัญหายืดเยื้อ
กรณีกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจพบสารหนูเกินมาตรฐานทั้งในแม่น้ำกกที่ไหลจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เข้าสู่ประเทศไทยด้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และไหลผ่านหลายอำเภอของ จ.เชียงราย รวมถึงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ที่เป็นพรมแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นั้น ล่าสุดภาคนักวิชาการต่างออกมาแสดงความเห็นถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาว่าคงล่าช้าและไม่มีความต่อเนื่อง
ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานัวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่านับตั้งแต่พบปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของสารหนูในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายช่วงต้นปี 2568 จนถึงวันนี้ในระดับรัฐบาลได้จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น คือเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2568 มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานฯ และมีหน่วยงนภาครัฐเข้าร่วม 17 หน่วยงาน
ครั้งนั้นได้กำหนดการปฏิบัติคือใช้กลไกความร่วมมือทั้งทางการทูตและการทหารในการประสานประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดภายนอกประเทศที่อาจส่งผลให้เกิดสารปนเปื้อนในแม่น้ำ,ใช้กลไกลุ่มน้ำโขง บริหารจัดการปริมาณน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและเพิ่มน้ำต้นทุนเข้าสู่แม่น้ำกก,ใช้นวัตกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ช่วยหาแหล่งที่มาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ,สื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล และสร้างความเข้าใจไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก,ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในแม่น้ำกก และลำน้ำสาขา การปนเปื้อนในสัตว์น้ำและการสะสมในร่างกายมนุษย์อย่างต่อเนื่อง,และจัดทำแนวทางการลดผลกระทบจากการทำเหมืองและประสานความร่วมมือในการเผยแพร่ให้ประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ
ดร.สืบสกุล เปิดเผยอีกว่าหลังจากนั้นรัฐบาลยังไม่เคยเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกเลย ปล่อยให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทำงานไปเพียงลำพัง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานทำงานตามบทบาท หน้าที่ของตัวเองและตามกฎหมายที่ให้อำนาจเท่านั้น
ขณะที่ปัญหนี้เป็นปัญหาข้ามหน่วยงานและข้ามชาติ ต้องเปิดการประชุมร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและจีนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้งรัฐบาลเมียนมาและจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษในต้นน้ำกกและน้ำสาย แม้ว่าพื้นที่บางส่วนอยู่ในการควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ก็ตาม ซึ่งรัฐบาลจีนมีบริษัทเอกชนเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่และเป็นผู้รับซื้อ รวมทั้งมีความใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐว้าซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังที่ดูแลพื้นที่เหมืองหลายแห่งด้วย
สุดท้ายขอให้มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำขึ้นใน จ.เชียงราย เนื่องจากข้อมูลคุณภาพคือหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่ปัจจุบันดำเนินการโดยหน่วยงานที่อยู่ภายนอกพื้นที่จังหวัดทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้น จ.เชียงราย จำเป็นต้องมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นของตัวเองโดยเฉพาะมีสถานบันการศึกษาระดมอุดมศึกษาหลายแห่งที่มีศักยภาพ เช่น มฟล.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านา,มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบันที่ต้นแม่น้ำสายและแม่น้ำกกในเขต จ.เมืองสาด เมืองยอนในเขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ถูกค้นพบด้วยภาพถ่ายดาวเทียมว่าเป็นที่ตั้งเหมืองแร่ทองคำและแมงกานีสหลายแห่ง ล่าสุดมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้เผยแพร่ภาพที่ชี้ให้เห็นว่านอกจากแร่ทองคำแล้วคาดว่ามีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ (แร่หายาก) อย่างน้อย 2 แห่ง ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำกก โดยแห่งแรกห่างจากแม่น้ำเพียง 2.6 กิโลเมตร และแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ห่างประมาณ 3.6 กิโลกรัม โดยห่างจากชายแดน อ.แม่อาย เพียงประมาณ 25 กิโลเมตรด้วย.