xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ ยังไม่เปิดทางกลุ่มทุนใหญ่สร้างนิคมฯใหม่ในเขตรอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา –ชาวบ้านในพื้นที่แนวตะเข็บรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ หวั่นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลังกลุ่มทุนเสนอขอตั้งนิคมฯ ขนาดใหญ่ในเนื้อกว่า 4,600 ไร่คั่นกลางนิคมฯ เอเชีย และเวลโกรว์ ชี้ที่ผ่านมาแค่ปัญหาขยะ-แรงงานต่างด้าวก็อ่วมแล้ว

วันนี้ ( 16 พ.ค.) นายภัทรภูมิ สว่างพร้อม ผู้อำนวยการบริหารจัดการเมืองและที่ดิน บริษัท อารยะแลนด์ ดิเวลลอปเม้นท์จำกัด ผู้ก่อตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมอารยะ พร้อมทีมงานบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ม.7 ต.บางพลีน้อย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปาการ เพื่อจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)เป็นครั้งที่ 2 ที่วัดเกาะแก้ว จ.สมุทรปราการ

เพื่อนำข้อมูลที่ได้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพิจารณา ประกอบคำขอจัดตั้งโครงการก่อสร้างเนิคมอุตสาหกรรมอารยะ บนเนื้อที่ 1,892 ไร่ จากที่ดินโครงการรวมกว่า 4,600 ไร่ โดยมีประชาชนจากทั้ง 2 จังหวัดรวมกว่า 700 คนให้ความสนใจเดินทางมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ท่ามกลางข้อสงสัยและกังวลใจของประชาชนทั้งในพื้นที่ 2 จังหวัดเนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ใกล้แนวตะเข็บรอยต่อของทั้ง 2 พื้นที่

อีกทั้งยังอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมเอเชียสุวรรณภูมิ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งประชาชนทั้ง 2 จังหวัด แสดงความกังวลเรื่องปัญหาผลผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมจากการขุดถมดินและการสร้างโรงงานบนพื้นที่แก้มลิง ซึ่งเป็นท้องทุ่งรับน้ำฝน และอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสีย ที่อาจส่งผลกระทบต่อบ่อเลี้ยงกุ้งและงปลาของประชาชน ซึ่งยึดเป็นอาชีพเลี้ยงชีพมานาน

ไม่เพียงเท่านั้นชาวบ้านยังมีความกังวลเรื่องปัญหาขยะที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามมา รวมถึงกากอุตสาหกรรม และปัญหาด้านการจราจรที่จะทวีความหนาแน่น ตลอดจนปัญหาแรงงานต่างด้าวที่จะเพิ่มจำนวนจากโครงการที่เกิดขึ้น


นายกฤต ศรีบุญเรือง ชาวบ้าน ม.7 ต.บางพลน้อย บอกว่าแม้ขณะนี้โครงการดังกล่าวจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในพื้นที่ แต่ก็มีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ที่พากันเข้ามาตั้งแคมป์ทำงานในไซด์งาน ที่ได้ ทิ้งขยะเกลื่อนจนสร้างความเดือดร้อนให้คนในชุมชนดั้งเดิมแล้ว

ไม่นับรวมเรื่องการใช้ยานพาหนะอย่างไม่มีระเบียบวินัย และไม่เคารพกฏจราจรของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมหลายรายยังได้เสนอให้มีการส่งตัวแทนจากทุกหมู่บ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรของพื้นที่ก่อสร้างนิคมฯ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 คนเพื่อเป็นคณะกรรมการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น

หรือมีการจัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐและนิคมอุตสาหกรรม ในการดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาเพื่อให้เกิดการเยียวยาแก้ไขปัญหาและชดเชยกลับคืนมาสู่คนในชุมชน








กำลังโหลดความคิดเห็น