กาญจนบุรี- ชาวหนองประดู่เฮ! หลัง สทบ.เขต 2 เปิดโครงการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซาก “อีสานแห่งภาคกลาง” คาดผลิตน้ำได้ 492,000 ลบ.ม./ปี ครอบคลุม 2,600 ครัวเรือน
นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) เปิดเผยว่า ในพื้นที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่ถูกขนานนามว่า “อีสานแห่งภาคกลาง” ซึ่งประกอบไปด้วย 5 อำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อำเภอเลาขวัญ อำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอพนมทวน โดยเฉพาะตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรรุนแรงมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา เป็นพื้นที่เขตเงาฝน หรือ Rain shadow ทำให้ในแต่ละปีมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่โดยทั่วไป อีกทั้งยังอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คลองธรรมชาติจะมีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพียงแห่งเดียวที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตระบบประปา คืออ่างเก็บน้ำหนองไก่เหลือง มีขนาดความจุเพียง 1.14 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบริการน้ำให้กับประชาชนได้เพียง 670 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีมากถึง 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นในช่วงหน้าแล้งของทุกปีชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำกินน้ำใช้ ส่วนเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะน้ำจะกินจะใช้ยังไม่มีเลย
ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองประดู่ ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้กับประชาชน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะการขุดสระไว้เก็บน้ำก็มีน้ำเพียงหน้าฝน พอหน้าแล้งน้ำในสระก็แห้ง อีกทั้งยังมีตะกอนขุ่นข้นและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้มีการใช้สารเคมีกันอย่างเข้มข้น ส่งผลให้สารพิษจากปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าและแมลง ปนเปื้อนในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
จากสภาพดังกล่าวชาวบ้านต้องพึ่งพาตนเอง ด้วยการซื้อน้ำจากภาคเอกชนมาไว้ใช้ในครัวเรือน ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนจำนวนหลายพันบาทต่อเดือน ซึ่งทางองค์การส่วนตำบลหนองประดู่ก็ทำได้เพียงบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และทำเช่นนี้มาเป็นระยะเวลาช้านาน ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของทางราชการอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้
ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งสำรวจแหล่งน้ำบาดาลใหม่ โดยพบว่าพื้นที่หนองประดู่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน แต่ต้องเจาะลึกกว่า 150 เมตร พร้อมใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำที่เพียงพอ โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อศึกษาคุณภาพและปริมาณน้ำ พร้อมออกแบบระบบประปาบาดาลให้เหมาะสมกับพื้นที่
นายทนงศักดิ์ ย้ำว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก ที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายคลึงกันในอนาคต รวมทั้งเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยากที่มีลักษณะอุทกธรณีวิทยาคล้ายๆ กันต่อไป หากดำเนินการโครงการแล้วเสร็จจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 7 หมู่บ้าน 2,600 ครัวเรือน หรือ 7,000 คน ปริมาณน้ำรวม 492,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเลยทีเดียว” นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)