ฉะเชิงเทรา -กมธ.แก้ไขปัญหาช้างป่าฯ นำหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูสภาพความเสียหายคูกั้นช้างดาดคอนกรีตใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มั่นใจการก่อสร้างแนวแบริเออร์ยังสามารถป้องกันช้างออกจากป่าได้
วันนี้ ( 13 พ.ค.) นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยอธิบดีกรมทางหลวง, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, นายกวิศวรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 ปราจีนบุรี ได้ร่วมกันตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่คูกั้นช้างแบบดาดคอนกรีตที่พังทลายลงไปในคูดินแบบร่องลึก 4 เมตรเดิม
ทั้งที่เพิ่งก่อสร้างขึ้นใหม่และเริ่มแล้วเสร็จบางส่วนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จากพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ ไปยังพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทราในระยะ 3 กิโลเมตรแรก ตามวงเงินงบประมาณโครงการปี 2567 ในระยะเริ่มต้น เพื่อเป็นการทดลองก่อสร้างตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการชุดนี้ รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นเงินงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท
โดยคณะกรรมาธิการฯ ยังคงมั่นใจว่าการก่อสร้างแนวแบริเออร์คูกั้นช้างแบบดาดคอนกรีตสวมทับแนวคูกั้นช้างแบบร่องดินลึก 4 เมตร ยังจะสามารถป้องกันช้างป่าออกจากป่าเข้าไปรบกวนพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีสระแก้ว) ได้
หากมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในด้านความแข็งแรงของแนวคูกั้นช้างนี้ให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น
และหากมีการเดินหน้าดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไปเป็นระยะ 10-20 กิโลเมตรในทุกๆ ปีตามงบประมาณ จนแนวของคูกั้นช้างยาวไปตลอดแนวทั่วทั้งพื้นที่ จะทำให้ช้างไม่สามารถออกจากป่าไปไหนได้ และยังง่ายต่อการควบคุมเส้นทางการเดินออกจากป่าของช้างป่า ในระยะเริ่มทยอยก่อสร้างโครงการจนกว่าจะแล้วเสร็จ