อุดรธานี - ผ่านฉลุย! ไปด้วยความเรียบร้อย การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ระดับใหญ่ ทั้ง 3 ค่ายมือถือ AIS True และ NT ผวจ.อุดรฯ เผยทั้งในตัวเมืองและต่างอำเภอผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้รับข้อความและเสียงสัญญาณเตือนภัยชัดเจน
ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำการทดสอบแจ้งเตือนภัยระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) ผ่านระบบ Cell Broadcast ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ (13 พ.ค.) ที่ ฝศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ AIS True และ NT กำหนดทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ใน 3 ระดับ (ระดับใหญ่)
ผลการทดสอบครั้งนี้เมื่อถึงเวลา 13.00 น. เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS มีการแจ้งเตือนก่อน ตามด้วย NT และ True และมีข้อความระบุว่า “การแจ้งเตือนระดับสูงทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จากการทดสอบครั้งนี้ พื้นที่จังหวัดอุดรธานีได้มีการขยายเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั้ง 20 อำเภอของจังหวัด โดยเฉพาะจุดสำคัญ อย่างเช่นโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เมื่อเริ่มทำการทดสอบเวลา 13.00 น. พบว่าระบบได้มีการแจ้งเตือนข้อความและเสียงเตือนทุกเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3 ระบบ AIS True และ NT เมื่อตรวจสอบไปยังต่างอำเภอพบว่าทุกอำเภอได้รับข้อความและเสียงเข้าระบบโทรศัพท์มือถือการเตือนภัยที่ได้ทดสอบในวันนี้เช่นกัน
จากการทดสอบระบบเตือนภัยที่ทางส่วนกลางได้ดำเนินการวันนี้ ถือว่าในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีการทดสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อย
การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและผลักดันให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เติมเต็มช่องว่างของการแจ้งเตือนภัยรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งข้อมูลการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ผ่านการส่งเสียงสัญญาณพร้อมข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนโดยตรง
ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ คนในพื้นที่หรือคนที่เดินทางมาท่องเที่ยว ได้รับข้อความแจ้งเตือนอย่างทั่วถึง สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยและเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาล