ศูนย์ข่าวขอนแก่น-วิสาหกิจเพื่อสังคม บ.สินไซโมเดล จำกัดลงนามความร่วมมือ ม.ศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น พัฒนาทักษะการจัดการท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มศักยภาพนักศึกษาก่อนออกสู่ตลาดงาน เผยแหล่งท่องเที่ยวชุมชน “บ้านสาวะถี” เป็นsocial Lab ในการพัฒนาคนต่อยอดจากทุนของชุมชนที่มีอยู่สู่การจัดการเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นระบบและก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากชุมชนมีรายได้แล้วยังลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนอีกด้วย
เมื่อเวลา 14:00 น วันที่ 9 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผศ. ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับนางสุมาลี สุวรรณกร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสินไซโมเดล จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และนางลันไดย์ บุญมี ประธานบริษัทสินไซโมเดล จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคมพร้อมสมาชิก
ผศ. ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือกับบริษัท สินไซโมเดล จํากัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และเซนส์ สปา ชีวาทิพย์ ในครั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานถือเป็นต้นแบบในการให้บริการ ทั้งด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และการให้บริการด้านสปาระดับมาตรฐาน สามารถให้นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ถือเป็นห้องเรียนอีกพื้นที่หนึ่งของนักศึกษาและเป็นโอกาสดีที่จะเป็นพันธมิตรทางวิชาการร่วมกัน
โดยการประสานความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิทยากร และบุคลากร ในการส่งเสริมและพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถและมีมาตรฐานด้านการจัดการธุรกิจและการให้บริการอย่างครบวงจร
“เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาของเราที่จะได้เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชนในสถานการณ์จริงก่อนที่จะจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นการพัฒนาทักษะให้ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและผู้ใช้บัณฑิตกับวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น”ผศ.ดร.จรรยากล่าว
ในขณะที่นางสุมาลี สุวรรณกร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสินไซโมเดล จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เปิดเผยว่า บริษัทสินไซโมเดล จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เป็นผลจากการที่ชุมชนสาวะถี บ้านสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้มีความตื่นตัวในการลุกขึ้นมาพัฒนาชุมชนด้วยมือของชาวชุมชนเอง ซึ่งมีเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสานเข้าไปช่วยในการจัดการกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน โดยใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมของชุมชน ทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่วัดไชยศรี และสื่อพื้นบ้านอย่างหมอลำมาใช้ในการสื่อสารกับคนในชุมชนและนอกชุมชน จนกลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นอีสานที่มีการนำเสนออย่างเป็นระบบ โดยมีชุมชนเป็นคนริเริ่มและจัดการตนเอง
กระทั่งสามารถต่อยอดเป็นบริษัท จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและก้าวสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้มุ่งหวังผลรายได้ที่เป็นผลกำไรเชิงธุรกิจ
จนถึง ณ วันนี้ บริษัทฯเติบโตมายาวนานถึง 5 ปีเศษ ทำให้เห็นศักยภาพของชุมชนที่มีแกนนำเข้มแข็งและมีความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา ฟันฝ่าจนกลายเป็นต้นแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมระดับประเทศ จากโมเดลการเรียนรู้ที่ใช้กระบวนการเมือง 3 ดี วิถีสุขคือพื้นที่ดี ภูมิดี และสื่อดี จนทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศและมีคนมาศึกษาดูงานมากมาย ทำให้ชุมชนสาวะถีแห่งนี้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนโดยคนในชุมชนเอง มีภาคส่วนจากภาครัฐมาหนุนเสริมในบางครั้ง แต่แกนนำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของชุมชน สมาชิกชุมชน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานเข้มแข็งและก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน”นางสุมาลี กล่าว
นางสุมาลีกล่าวอีกว่า ปัจจุบันชุมชนสาวะถีกลายเป็น social Lab ในการพัฒนาคน โดยต่อยอดจากสื่อศิลปวัฒนธรรมและทุนของชุมชนที่มีอยู่ ไปสู่การจัดการเรียนรู้ชุมชนและก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้ชุมชนมีรายได้ โดยเฉพาะการตอบโจทย์เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงานให้กลุ่มเปราะบาง สตรี ผู้สูงอายุ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ปล่อยปละละเลยไป ซึ่งทั้งบ้าน วัด และโรงเรียนคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลที่เรียกได้ว่าคือ“สินไซโมเดล” โมเดลแห่งการใช้สื่อเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง.